ราษฎรที่อาศัยอยู่บริเวณ พื้นที่ชายฝั่งแหลมตะลุมพุก จังหวัดนครศรีธรรมราช ต้องอยู่ด้วยความระแวง เพราะถูกน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง กินบริเวณกว่า 800 เมตร จนบ้านพังไปแล้วหลายหลัง จึงเรียกร้องภาครัฐให้เร่งดำเนินการอพยพไปในพื้นที่ป่าสงวนที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้โดยเร็ว
นี่คือซากบ้าน บริเวณริมหาดแหลมตะลุมพุก จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่เจ้าของต้องรื้อทิ้งเพราะน้ำทะเลกัดเซาะมาถึงตัวบ้าน จึงเหลือเพียงร่องรอยที่ทำให้รู้ว่าครั้งหนึ่งเคยมีบ้านอยู่ตรงนี้ และถึงแม้จะมีการสร้างถนนขึ้นมากั้นกระแสน้ำแล้ว แต่อุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กระแสน้ำที่รุนแรงซัดถล่มทำให้บ้านของพี่วิรัตน์ มานีวงษ์ พังอีกหลังทำให้ขณะนี้เค้าต้องเร่งหาที่อยู่ใหม่
แหลมตะลุมพุก มีชายฝั่ง 2 ด้าน ด้านหนึ่งติดกับอ่าวไทย และด้านหนึ่งติดกับอ่าวปากพนังซึ่งในแต่ละปีน้ำทะเลจะกัดเซาะชายฝั่งด้านอ่าวไทยไม่ต่ำกว่า 5 เมตร และจะไปงอกฝั่งอ่าวปากพนังแทน ซึ่งในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาน้ำทะเลได้กัดเซาะจนทำให้ชายฝั่งหายไปแล้วประมาณ 800 เมตร ส่งผลให้ราษฎรหมู่ 2 หมู่ 3 ของตำบลแหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวประมงพื้นบ้านกว่า 200 ครัวเรือนต้องการอพยพอย่างเร่งด่วน
กำนันประยุทธ ฐานะวัฒนา กำนันตำบลแหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง ใช้เวลากว่า 5 ปี ในต่อสู้ให้กับราษฎรในพื้นที่ได้มีที่อยู่อาศัยใหม่ ซึ่งปัจจุบันมีราษฎรอาศัยอยู่ทั้งสิน 3 หมู่บ้าน 600 ครัวเรือน ส่วนใหญ่มีรายได้น้อย ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ทำเรื่องของสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะบริเวณแหลมตะลุมพุกไปแล้วแต่ถูกปฏิเสธ แต่กำนันก็ไม่ย่อท้อ และเมื่อเกิดอุทกภัยล่าสุดในปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีได้ลงสำรวจพื้นที่ความเสียหายที่บริเวณนี้ และได้อนุมัติพื้นที่บริเวณป่าชายเลนด้านใน ซึ่งเป็นเขตป่าสงวนให้ราษฎรได้อพยพแล้ว ซึ่งขั้นตอนขณะนี้ถึงแม้จะผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว แต่กระบวนการในดำเนินการยังมีความล่าช้า ซึ่งปัจจุบันมีชาวบ้านซึ่งไม่มีที่ไป บุกรุกเข้าไปสร้างบ้านในเขตป่าสงวนประมาณ 30 ครัวเรือนแล้ว
ชาวบ้านแหลมตะลุมพุก ต่างยังรอความหวังจากภาครัฐที่ช่วยให้พวกเขาได้อพยพโดยเร็ว และยืนยันว่าจะไม่มีการบุกรุกพื้นที่เพิ่ม เพราะสิ่งที่ต้องการคือการอยู่กับธรรมชาติที่จะไม่สร้างความเดือดร้อนไปมากกว่านี้ ด้วยการทำประมงขนาดเล็กแบบอนุรักษ์ให้สามารถเลี้ยงปากเลี้ยงท้องได้ ไม่ใช่การทำประมงขนาดใหญ่แบบนายทุน
Produced by VoiceTV |