วันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

สธ.คุมเข้มอาหารนำเข้าจากญี่ปุ่น

กระทรวงสาธารณสุขประกาศคุมนำเข้าอาหารจากญี่ปุ่นที่เสี่ยงปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจาก 9 จังหวัดในญี่ปุ่นตั้งแต่ต้นสิงหาคมนี้

 

นายบุณย์ธีร์ พานิชประไพ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เผยว่า นายจุรินทร์ ลักษณ์วิศิษฏ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องกำหนดเงื่อนไขการนำเข้าอาหารจากประเทศญี่ปุ่นที่มีความเสี่ยงจากการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี พ.ศ.2554 เพื่อควบคุมมาตรฐานอาหาร และคุ้มครองสุขภาพประชาชนไทยให้บริโภคอาหารที่ปลอดภัย

 

ตามประกาศกระทรวงฉบับดังกล่าว กำหนดให้อาการนำเข้าประเทศไทยทุกประเภท ยกเว้นวัตถุเจือปนอาหาร วัตถุแต่งกลิ่นรส วัตถุที่ใช้รักษาคุณภาพอาหาร ที่ผลิตจากประเทศญี่ปุ่น ในเขตพื้นที่ 9 จังหวัดได้แก่ ฟูกุชิมะ, กุมมะ, อิบารากิ, โทจิงิ, มิยางิ, โตเกียว, ชิบะ, คานากาวะ และชิซูโอกะ ต้องเป็นไปตามมาตรฐานอาหารที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี

 

โดยตรวจพบได้ไม่เกินค่ากำหนด ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องมาตรฐานอาหารปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี 2 ชนิด ลงวันที่ 11 เมษายน 2554 ได้แก่ ไอโอดีน-131 (lodine-131) กำหนดไม่เกิน 100 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม หรือเบคเคอเรลต่อลิตร และซีเซียม-134 (Cesium-134) และซีเซียม-137 (Cesium-137) รวมกันไม่เกิน 500 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม หรือเบคเคอเรลต่อลิตร คาดว่าจะสามารถประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ภายในต้นเดือนสิงหาคม 2554 เป็นต้นไป

 

ทั้งนี้ ผู้นำเข้าอาหารจากพื้นที่ 9 จังหวัดที่กล่าวมา จะต้องแสดงหลักฐานต่อเจ้าหน้าที่ที่ประจำด่านนำเข้าทุกครั้ง โดยระบุประเภท ชนิดอาหาร ปริมาณสารกัมมันตรังสี และพื้นที่ผลิตอาหาร จากหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ได้แก่

1.หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบของประเทศญี่ปุ่น

2.หน่วยงานอื่นที่ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบของญี่ผุ่น

3.ห้องปฏิบัติการของหน่วยงานรัฐ

4. ห้องปฏิบัติการที่ได้รับมอบหมายหรือได้รับการรับรองจากหน่วยงานรัฐ

5.ห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองความสามารถตามมาตรฐานสากล

 

นายบุณย์ธีร์ กล่าวต่อว่า ผู้นำเข้าอาหารจากพื้นที่อื่น นอกเหนือจาก 9 จังหวัดที่กล่าวมาข้างต้น ต้องมีหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดของสินค้าที่มีการเพาะปลูก หรือเพาะเลี้ยงหรือผลิตในเขตดังกล่าว ซึ่งออกโดยหน่วยงานของรัฐของประเทศญี่ปุ่น หรือหน่วยงานอื่นที่ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบของประเทศญี่ปุ่น หรือสภาหอการค้าและอุตสาหกรรม (Chamber of Commerce and Industry) ของประเทศญี่ปุ่น แสดงที่ด่านนำเข้าทุกครั้ง กรณีไม่มีหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดของสินค้า ผู้นำเข้าอาจใช้หลักฐานแสดงผลการตรวจวิเคราะห์ ระบุประเภท ชนิดอาหารและปริมาณกัมมันตรังสีจากหน่วยงานที่รับผิดชอบของรัฐ หรือห้องปฏิบัติการทดสอบที่ได้รับการรับรองความสามารถมาตรฐานสากล แทนก็ได้

 

Source : komchadluek.net / (Image)