วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ทำความรู้จักโทนี ทัน ปธน.คนใหม่แห่งสิงคโปร์

ในอีก 2 วันข้างหน้า  สิงคโปร์จะมีประธานาธิบดีคนใหม่ ซึ่งได้รับการเลือกตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ผ่านมา คือนาย โทนี ทัน ผู้มีประสบการณ์ทางด้านการเมือง

 

นายทัน เคง ยัม หรือนายโทนี ทัน คนนี้ คือผู้ที่จะก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของสิงคโปร์อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 กันยายนนี้ ถือเป็นประธานาธิบดีคนที่ 7 ของสิงคโปร์ และเป็นประธานาธิบดีคนที่ 2 ที่มาจากการเลือกตั้งที่มีผู้ลงสมัครหลายคน นับตั้งแต่ประเทศสิงคโปร์เปลี่ยนแปลงรูปแบบการแต่งตั้งประธานาธิบดี จากการเลือกตั้งโดยรัฐสภา มาเป็นการเลือกตั้งโดยประชาชนในปี 2534


นายทัน เคยเป็นทั้งอาจารย์ นักการเมือง และนักการธนาคาร โดยเขาเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารและรองประธานของบรรษัทเพื่อการลงทุนแห่งรัฐบาลสิงคโปร์ หรือ จีไอซี  ประธานสิงคโปร์ เพรส โฮลดิงส์ ลิมิตเทด  รวมถึงประธานมูลนิธิการวิจัยแห่งชาติสิงคโปร์ และรองประธานสภาการวิจัย นวัตกรรม และวิสาหกิจ


ในทางการเมือง นายทันเป็นสมาชิกพรรค People's Action Party หรือ พีเอพี จนถึงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรติดต่อกันหลายสมัย และเคยดำรงตำแหน่งสูงสุดเป็น รองนายกรัฐมนตรีระหว่างปี 2538 ถึงปี 2548 รวมถึงเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมาแล้วหลายกระทรวง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงศึกษาธิการ   กระทรวงการคลัง    กระทรวงสาธารณสุข  กระทรวงกลาโหม  และกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม


ในสมัยที่เขาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมนี้เอง นายทันมีข้อขัดแย้งกับเลขาธิการของสภาสหภาพแรงงานแห่งชาติ เนื่องจากไม่ยอมให้มีการนัดประท้วงหยุดงานโดยเด็ดขาด ซึ่งฝ่ายสหภาพแรงงานมองว่า การนัดประท้วงหยุดงานเป็นสิทธิอันชอบธรรม และเป็นเรื่องที่จำเป็น


ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 นายทันคือคนที่นายลี กวน ยู นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น คัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากเขา แต่นายทันปฏิเสธ โดยที่ผ่านมา นายทันถือเป็นบุคคลที่มีบทบาทอย่างมากในประเด็นสังคมต่างๆ เช่น การต่อต้านการรื้อถอนมัสยิดโบราณทางตอนเหนือของประเทศสิงคโปร์ รวมถึงการต่อต้านการสร้างโรงแรมคาสิโน เนื่องจากเกรงว่านักพนันจะก่อปัญหาต่างๆ ในประเทศ


สิงคโปร์ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐ และมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร โดยส่วนใหญ่ ประธานาธิบดีมีหน้าที่ในทางพิธีการ เช่น เดินทางเยือนและต้อนรับผู้นำต่างชาติ ส่วนในด้านบริหารและนิติบัญญัติ ประธานาธิบดีจะต้องกระทำการตามแนวทางของคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา โดยไม่มีสิทธิคัดค้าน ยกเว้นในเรื่องที่กระทบต่อด้านการเงิน และการเปลี่ยนแปลงข้าราชการในตำแหน่งสำคัญๆ เท่านั้น

 

Produced by VoiceTV