วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2554

รัฐสภาไทยสอบตกในสายตาประชาชน

รัฐสภาไทยสอบตกในสายตาประชาชน

สถาบันพระปกเกล้า เปิดผลประเมินการทำงานของรัฐสภา โดยพบว่ารัฐสภาได้รับความไว้วางใจจากประชาชนเพียง 5.99 จากคะแนนเต็ม 10 

 

วันนี้ (1ก.ย.54) สถาบันพระปกเกล้า เปิดผลประเมินการทำงานของรัฐสภา  ซึ่งเป็นครั้งแรกที่การทำงานของรัฐสถา  ถูกชี้วัดประสิทธิภาพตามเกณฑ์สหภาพรัฐสภา ที่ใช้วัดการทำงานของรัฐสภา 154 ประเทศทั่วโลก  โดยพบว่ารัฐสภาได้รับความไว้วางใจจากประชาชนเพียง 5.99 จากคะแนนเต็ม 10 

 

ภาพลักษณ์การทำงานของรัฐสภาที่ผ่านมา หลายต่อหลายครั้งมีภาพติดลบ จากปัญหาความขัดแย้งระหว่างพรรคการเมือง โดยเฉพาะการปะทะกันทั้งคำพูดและอารมณ์ของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน จนทำให้ประชาชนจำนวนมากอดตั้งคำถามกับคนที่พวกเขาเลือกให้ทำหน้าที่ผู้แทนไม่ได้ว่าจะสามารถทำหน้าที่เป็นปากเสียงให้ประชาชนได้มากน้อยเท่าใด


จากผลวิจัยของสถาบันพระปกเกล้าที่ประเมินผลการดำเนินงานของรัฐสภาไทย จากกลุ่มตัวอย่างประชาชน 5,130 คนทั่วประเทศ ปรากฏว่ารัฐสภาได้คะแนนความไว้วางใจ 5.99 ผ่านกึ่งกลางมาแบบเฉียดฉิว จากคะแนนเต็ม 10   


โดยการประเมินผลงานของรัฐสภาใช้เกณฑ์ 6 ด้าน ได้แก่ การเป็นตัวแทนของประชาชน การตรวจสอบฝ่ายบริหาร การทำหน้าที่นิติบัญญัติ ความโปร่งใสและการเข้าถึงได้ของประชาชน ความสำนึกรับผิดชอบ และการมีส่วนร่วมในนโยบายระหว่างประเทศ  ซึ่งเป็นเกณฑ์ของสหภาพรัฐสภา ที่ไทยเป็นสมาชิกพร้อมกับประเทศต่าง ๆ 154 ประเทศ


ทั้งนี้จากผลการวิจัยพบว่ารัฐสภาได้คะแนนมากที่สุดในด้านการทำหน้าที่นิติบัญญัติและการตรวจสอบฝ่ายบริหาร โดยได้คะแนน 2.8 จาก 5 คะแนน ขณะที่ด้านสำนึกรับผิดชอบได้คะแนนต่ำสุด เพียง 2.3 คะแนน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่ถึงครึ่ง


เมื่อเปรียบเทียบความไว้วางใจในตัว ส.ว. และ ส.ส. พบว่าประชาชนในทุกภาคมีความไว้วางใจในตัว ส.ส. มากกว่า ส.ว. ยกเว้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และจากการสำรวจความเชื่อมั่นในภาพรวมของรัฐสภาพบว่าประชาชนร้อยละ63 เชื่อมั่นและค่อนข้างเชื่อมั่นต่อการทำงานของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี


อย่างไรก็ตามการทำงานของรัฐสภายังมีส่วนที่ต้องปรับปรุงอยู่มาก โดยภาคประชาชนต้องการให้พรรคการเมืองมีนโยบายที่ชัดเจนในการคัดเลือกผู้สมัครที่มีคุณสมบัติในการเป็น ส.ส. และให้ ส.ส.มีความหลากหลายจากการเป็นตัวแทนบุคคลหลายกลุ่ม พร้อมเสนอให้มีการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของ ส.ส.และ ส.ว.


ทั้งนี้ประชาชนกว่าครึ่ง  เห็นว่าก่อนและหลังการเลือกตั้ง ส.ส.มีพฤติกรรมที่แตกต่างกันมากและพวกเขาไม่สามารถเข้าถึงตัว ส.ส.ได้ พร้อมเรียกร้องให้ ส.ส. ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงของประชาชนมากกว่านี้ และให้เผยแพร่ข้อมูลเรื่องการพิจารณาร่างกฎหมายของรัฐสภาเพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม โดยหลังจากนี้คณะผู้จัดทำวิจัยของสถาบันพระปกเกล้าจะนำรายงานเสนอต่อประธานรัฐสภา เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติงานจริงของรัฐสภาต่อไป 

 

Produced by VoiceTV