วันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2554

ช่วยน้ำท่วม เลื่อนส่งเงินกู้กองทุนหมู่บ้าน

ช่วยน้ำท่วม เลื่อนส่งเงินกู้กองทุนหมู่บ้าน

รองนายกรัฐมนตรี เล็งขยายเวลาส่งเงินกู้กองทุนหมู่บ้านพื้นที่น้ำท่วม จาก 1 เป็น 2 ปี พร้อมเตรียมงบประมาณเพิ่มอีกหมู่บ้านละ 1 ล้านบาท

 

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่มีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯ ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้มีการตั้งกระทู้ถามทั่วไปนายกรัฐมนตรี เรื่อง การบริหารจัดการกองทุนหมู่บ้านให้เกิดผลสัมฤทธิ์ และการช่วยเหลือสมาชิกกองทุนหมู่บ้านที่ประสบอุทักภัย โดยนายจักรวาล ชัยวิรัตน์นุกุล ส.ส.สุโขทัย พรรคภูมิใจไทย ว่า ตนพบปัญหาในส่วนของกองทุนหมู่บ้าน ที่มีการกู้เงินในกองทุนไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าบุคคลที่กู้ยืมเงินไปนั้นจะนำไปสร้างอาชีพได้อย่างไร จากการตรวจสอบพบว่ามีมากถึง 60 เปอร์เซ็นต์

 

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ชี้แจงแทนนายกฯ ว่า กองทุนหมู่บ้านได้มีการดำเนินการมาตั้งแต่ปี 44 รวมกว่า 7 หมื่นล้านหมู่บ้านที่เข้าร่วม มีกองทุนหมู่บ้านร้อยละ 30 ถูกจัดอันดับว่าสามารถพึ่งตัวเองได้ดี และมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ เป็นกองทุนสามารถดำเนินการต่อเนื่องได้ แม้จะมีข้อติดขัดของผู้กู้บางราย ที่อาจจะกู้ไปประกอบอาชีพแต่อาจจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ยังประคองตัวได้ และน้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ อยู่ในภาวะต้องการการสนับสนุนช่วยเหลือ ขณะนี้แนวทางการแก้ปัญหาได้มีการตั้งเครือข่ายกองทุนมีสำนักงานสาขากองทุนหมู่บ้าน และชุมนุม เพื่อร่วมกันแก้ไขให้กองทุนประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์สามารถทำต่อเนื่องได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น ช่วงปีที่ผ่านมามีปัญหาอุทกภัยเกิดขึ้น คณะกรรมการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านได้กำหนดว่าพื้นที่ที่น้ำท่วมคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านสามารถผ่อนปรนให้สมาชิกชำระหนี้ ขยายเวลาจาก 1 เป็น 2 ปี และทำเป็นกรณีๆ ไป การมีลูกหนี้ที่เป็นปัญหาบ้างถือเป็นเรื่องทั่วไปที่ประสบปัญหา ดังนั้น ยืนยันจะดำเนินการบริหารกองทุนหมู่บ้านต่อไป โดยการเตรียมงบประมาณเพิ่มทุนหมู่บ้านอีกหมู่บ้านละ 1 ล้านบาทตามแนวทางของรัฐบาลนั้น จะได้นำเสนอต่อสภาเพื่อเพิ่มทุนให้หมู่บ้านในขั้นต่อไป

 

นายกิตติรัตน์กล่าว “ผมพร้อมที่จะรับข้อมูลกรณีที่ชาวบ้านต้องเป็นหนี้นอกระบบ เพื่อหาเงินมาใช้คืนกองทุนหมู่บ้านมาพิจารณา เพราะแนวทางนโยบายที่ผู้ที่มีรายได้น้อยจะยกระดับคุณภาพชีวิตคือการเข้าถึงแหลงเงินทุน ดอกเบี้ยต่ำ แต่หากใครเอาไปใช้ไม่ตรงตามวัตถุปะสงค์ก็เป็นหน้าที่เราที่ต้องดูแล เช่น การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบก็ทำมาตลอด รัฐบาลชุดที่แล้วก็แก้ปัญหาได้พอสมควร แต่การยกเลิกหนี้ให้ใครนั้นไม่อยู่ในแนวทางของรัฐบาลนี้ แต่สำหรับเกษตรกรรายย่อย และผู้มีรายได้น้อย รัฐบาลจะพักการชำระหนี้ หรือการปรับโครงสร้างหนี้ในการยืดระยะเวลาการชำระหนี้ออกไป” 

source :nationchennal/gotoknow(image)