วันศุกร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2554

นักวิชาการไทยศึกษาทั่วโลก ร้องนายกฯ ทบทวน กม.หมิ่น

นักวิชาการไทยศึกษาทั่วโลก ร้องนายกฯ ทบทวน กม.หมิ่น

112 นักวิชาการด้านไทยศึกษาจากสหรัฐฯ ยุโรป และเอเชีย ลงนามในจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯ ร้องทบทวนการใช้ กม.หมิ่นฯ–พ.ร.บ.คอม

 
 
นักวิชาการด้านไทยศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ใน สหรัฐฯ ยุโรป และเอเชีย จำนวน 112 คน ลงนามในจดหมายเปิดผนึกถึงยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แสดงความกังวลต่อสถานการณ์ด้านสิทธิและเสรีภาพที่ถูกจำกัดในสังคมไทย โดยเฉพาะการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่มีอัตราการสั่งฟ้องเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณในรอบห้าปีที่ผ่านมา
 
ในจดหมายเปิดผนึกดังกล่าว ที่มีนักวิชาการระดับโลก เช่น โนม โชมสกี้ จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเมสเสทชูเสตต์ ประเทศสหรัฐฯ ร่วมลงนาม ระบุว่า การใช้มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา และพ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ซึ่งนำไปสู่การจับกุมคุมขังประชาชน เป็นภัยคุกคามต่ออนาคตของประชาธิปไตยไทย กลุ่มนักวิชาการ 112 คน จึงเรียกร้องให้รัฐบาลไทย ทบทวนการใช้กฎหมายดังกล่าว เพื่อไม่ให้นำไปสู่การละเมิดสิทธิทางการเมือง
 
นอกจากนี้ ยังเสนอแนะให้ รัฐบาลพิจารณากรณีการจับกุมและการดำเนินคดีด้วยกฎหมายดังกล่าวอย่างละเอียด พร้อมทั้งให้สิทธิการประกันตัวแก่ผู้ต้องหา เพื่อให้สามารถต่อสู้คดีได้อย่างเป็นธรรม
 
 
 
จดหมายเปิดผนึก
 
ทำเนียบรัฐบาล
ถนนพิษณุโลก เขตดุสิต
กรุงเทพฯ 10300
ประเทศไทย
 
วันที่ 23 สิงหาคม 2554
 
 
กราบเรียน นายกรัฐมนตรี
 
ด้วยนักวิชาการนานาชาติในวงการไทยศึกษา มีความกังวลต่อการจำกัดพื้นที่อิสระสำหรับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเทศไทยนับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา รวมถึงประเด็นปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนที่มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทั้งในกรณีนักโทษการเมืองและเรื่องที่รัฐบาลยังไม่แสดงความรับผิดชอบต่อความรุนแรงที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ
 
ทั้งนี้ นับตั้งแต่ช่วงเมษายน-พฤษภาคม 2553 พวกเราได้เห็นสิทธิเสรีภาพสำคัญหลายประการได้ถูกลิดรอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจับกุมและการดำเนินคดีต่าง ๆ หลายคดีภายใต้การบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550
 
พวกเรายินดีที่ทราบว่า นายกรัฐมนตรีได้ยอมรับว่ามีการละเมิดอย่างรุนแรงหลายประการที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม พวกเราขอกราบเรียนให้ทราบว่า แม้ว่าคดีสำคัญหลาย ๆ คดีจะเป็นที่เปิดเผยโดยทั่วไปผ่านการรายงานของสื่อมวลชน แต่ยังมีอีกหลายคดีที่เสมือนว่ารัฐบาลและสื่อมวลชนยังคงปล่อยให้เงียบหายไป ในคดีเหล่านี้ มีหลายคนที่ถูกคุมขังก่อนจะมีการแจ้งข้อกล่าวหา และมีอีกหลายรายที่ถูกกล่าวหาแล้วแต่ถูกศาลปฏิเสธให้ได้รับการประกันตัวในระหว่างที่รอดำเนินการในชั้นศาล
 
ทั้งนี้ ข้อมูลสถิติจากสำนักงานอัยการสูงสุดของปีที่แล้วแสดงให้เห็นว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 มีการฟ้องร้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ในขณะที่ตัวเลขจากสำนักงานศาลยุติธรรมชี้ให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นที่สูงกว่านั้นหลายเท่าตัว
 
ดังนั้น พวกเราจึงกังวลอย่างยิ่งที่ยังคงเห็นการดำเนินการในคดีการเมืองอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น กรณีที่นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ถูกคุมขัง 84 วันก่อนที่อัยการจะตัดสินใจสั่งฟ้อง ทั้งนี้ นายสมยศฯ ไม่ได้ถูกดำเนินคดีอันเนื่องมาจากสิ่งที่เขาพูดหรือกระทำด้วยตนเอง แต่มาจากข้อเขียนของผู้อื่นที่อยู่ในวารสารที่เขาเป็นบรรณาธิการ ซึ่งไม่ต่างไปจากคดีของนางสาวจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการ หนังสือพิมพ์ประชาไทออนไลน์
 
ในกรณีของ นาย Joe Gordon ที่เป็นพลเมืองของสหรัฐอเมริกา เขาก็ถูกคุมขัง 84 วันก่อนที่อัยการจะตัดสินส่งฟ้องเช่นเดียวกัน อีกทั้งศาลอาญายังปฏิเสธให้ประกันตัวนายสมยศ และนาย Joe Gordon ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในการนี้แถลงการณ์ของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ เมื่อไม่นานมานี้ สะท้อนให้เห็นถึงความสนใจและความเป็นห่วงต่อคดีในลักษณะดังกล่าวจากนานาประเทศได้เป็นอย่างดี
 
พวกเราพิจารณาเห็นว่า การคุมขังและข่มขู่ประชาชนถือเป็นสัญญาณอันเลวร้ายที่ก่อให้เกิดการกระทำการต่าง ๆ มากมายที่คุกคามสิทธิมนุษยชนและกระทบต่ออนาคตของประชาธิปไตยในประเทศไทย จึงขอกราบเรียนให้นายกรัฐมนตรี พิจารณาดำเนินการในประเด็นที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่
 
(1) ดำเนินการตรวจสอบอย่างละเอียดในกรณีการจับกุมและการดำเนินคดีภายใต้มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 รวมทั้งบทบัญญัติอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
 
(2) ริเริ่มขั้นตอนที่จะนำไปสู่การอนุญาตให้ประกันตัวผู้ที่ถูกคุมขังภายใต้มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 เพื่อให้เขาเหล่านั้นสามารถเตรียมตัวสู้คดีได้อย่างเป็นธรรมในชั้นศาล
 
(3) พิจารณาทบทวนประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 รวมทั้งบทบัญญัติที่เกี่ยวข้อง และวางกลไกเพื่อป้องกันการนำบทบัญญัติทางกฎหมายต่าง ๆ เหล่านี้ ไปใช้เพื่อละเมิดสิทธิเสรีภาพทางการเมือง
 
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
 
ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง
 
Source : prachatai