นิติราษฎร์ ฉบับ 30 จาก อ.สาวตรี สุขศรี
ดูเหมือนฝุ่นที่ถูกตีกวนจนฟุ้งกระจายจากข้อเสนอของคณะนิติราษฏร์ตั้งแต่วันที่19 กันยายน 2554 จางหายไปแล้วในสื่อกระแสหลัก บทความจาก นิติราฎร์ ฉบับ ๓๐ อ.สาวตรี สุขศรี
เกริ่นนำ ดูเหมือนฝุ่นที่ถูกตีกวนจนฟุ้งกระจายจากข้อเสนอของคณะนิติราษฏร์ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2554 จางหายไปแล้วในสื่อกระแสหลัก (ยังมีบางสำนักเท่านั้นที่เล่นต่อไม่ปล่อย เช่น ไทยโพสต์) แต่ถ้าดูให้ดี ๆ จะพบว่าแท้จริงแล้วเรื่องนี้ยังไม่จบ เพียงแต่ถูกย้ายฐานเข้าไปตลบอบอวลอยู่ในเคเบิ้ลทีวี วิทยุชุมชน อินเทอร์เน็ต และเครือข่ายออนไลน์อย่างเฟสบุ๊กหรือทวิตเตอร์ อย่างไรก็ดี แม้จะเป็นฝุ่นจากเรื่องเดียวกัน แต่เนื้อหาของฝุ่นในสื่อทั้งสองประเภทดูค่อนข้างแตกต่าง ลักษณะการวิพากษ์วิจารณ์ การให้เหตุผล การมีส่วนร่วมของผู้รับสื่อ ราวกับอยู่กันคนละโลก ปรากฏการณ์นิติราษฏร์ครั้งนี้สะท้อนอะไรบ้างเกี่ยวกับสื่อมวลชนไทย ปรากฎการณ์นิติราษฎร์ คืนวันที่ 10 กันยายน 2554 คณะนิติราษฏร์ ตัดสินใจตั้งโต๊ะแถลงข้อเสนอทางวิชาการ 4 ข้อ ในวันที่ 18 กันยายน พ.ศ.2554 ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในโอกาสที่อีกหนึ่งวันจะครบรอบ 1 ปีก่อตั้งคณะนิติราษฏร์ ซึ่งเป็นวันเดียวกับวันรัฐประหารยึดอำนาจจากมือประชาชนเมื่อ 5 ปีก่อน วัตถุประสงค์เพียงเพื่อสรุปสิ่งที่นิติราษฏร์ทำมาแล้วในรอบปี กับเสนอประเด็นใหม่เพื่อให้เกิดการถกเถียงทางวิชาการ และให้สังคมได้นำไปขบคิดต่อ แต่พลันที่นิติราษฏร์แถลงข้อเสนอออกไป ปฏิกิริยาต่อข้อเสนอดังกล่าวทั้งในสื่อกระแสหลักและสื่อทางเลือกคึกคัก ดุเดือด นอกเหนือความคาดหมายของสมาชิกในกลุ่ม อย่างไรก็ตาม สัปดาห์แรกภายหลังแถลงข้อเสนอ ประเด็นเดียวที่ถูกหยิบจับขึ้นวิพากษ์อย่างร้อนแรงตามหน้าหนังสือพิมพ์ ก็คือ ข้อ 1 เสนอให้ลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ประเด็นที่ 1 รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ทำลายนิติรัฐ-ประชาธิปไตย และยังเป็นต้นเหตุของปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ คณะนิติราษฎร์จึงเสนอให้มีการลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ดังต่อไปนี้ 1. ประกาศให้รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และการกระทำใดๆที่มุ่งต่อผลในทางกฎหมายของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2549 เสียเปล่าและถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย 2. ประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 มาตรา 36 และมาตรา 37 เสียเปล่าและถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย 3. ประกาศให้คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่อาศัย อำนาจตามประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข (คปค.) และคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และคำพิพากษาของศาลยุติธรรมที่เป็นผลต่อเนื่องจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาคำวินิจฉัยและคำพิพากษาที่เกิดจากการเริ่มกระบวนการ โดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหา กษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เสียเปล่าและถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย 4. ประกาศให้เรื่องที่อยู่ในกระบวนพิจารณาในชั้นเจ้าหน้าที่ และเรื่องที่อยู่ในกระบวนพิจารณาในชั้นศาล ที่เกิดจากการเริ่มเรื่องโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความ เสียหายแก่รัฐ (คตส.) เป็นอันยุติลง 5. การประกาศความเสียเปล่าของบรรดาคำวินิจฉัยและคำพิพากษาตามข้อ 2 และการยุติลงของกระบวนการตามข้อ 3 ไม่ใช่เป็นการนิรโทษกรรมหรือการอภัยโทษหรือการล้างมลทินแก่บุคคลที่ถูก กล่าวหาว่ากระทำความผิด และไม่ใช่เป็นการลบล้างการกระทำทั้งหลายทั้งปวงของผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำ ความผิด ดังนั้น หากจะเริ่มดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าวใหม่ก็สามารถกระทำไปตามกระบวนการทาง กฎหมายปกติได้ 6. เพื่อความชอบธรรมทางประชาธิปไตย คณะนิติราษฎร์เสนอให้นำข้อเสนอดังกล่าวไปจัดทำเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไข เพิ่มเติมและนำไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติ
ทั้งพาดหัว และเนื้อข่าวซึ่งมาจากการสัมภาษณ์ความคิดเห็นของบุคคลอื่นที่มีต่อข้อเสนอ นักข่าวเขียนเองเชิงรายงานข้อเท็จจริง รวมทั้งบทวิเคราะห์วิจารณ์ของคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ กว่า 80 % เป็นไปในทางโจมตีโดยมีประเด็นหลักร่วมกันว่า คณะนิติราษฏร์เสนอให้ลบล้างความผิดของทักษิณ ชินวัตร ต้องการช่วยคนเพียงคนเดียว และเป็นการรับงาน/รับเงิน ชื่อ นิติราษฏร์ ถูกเปลี่ยนเป็น นิติเรด นิติราด ไปจนถึงนิติทรราชย์ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ผู้เป็นกำลังหลักในคณะนิติราษฏร์ ถูกเปลี่ยนเป็นวรเรด วรเชษฐา(ของทักษิณ) วรแจ็ค(ผู้ฆ่ายักษ์) กระทั่งวรนุช ภาพลักษณ์ของคณะนิติราษฏร์ซึ่งประกอบด้วยนักกฎหมาย 7 คน กลายเป็นผู้ใหญ่บ้านและลูกบ้านเสื้อแดง กลุ่มก่อความวุ่นวาย ไปจนถึงขบวนการผีอีเม้ย ไม่ควรต้องปฏิเสธหรือออกมาปัดป้องกันให้วุ่นวายว่า การเสนอข่าวหรือการขายข่าวโดยสื่อมวลชนเช่นนั้น (จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม) เป็นการเสนอขายข้อที่ไม่เป็นความจริง หรือถ้าจะโต้ว่านำเสนอข้อเท็จจริงก็เป็นไปอย่างไม่ครบถ้วน หลายกรณีที่สื่อและผู้ให้สัมภาษณ์คิดจินตนาการเอาเองอย่างขาดความเข้าใจ บิดข้อเท็จจริงเพื่อทำให้ข้อเสนอดูสุดโต่งน่ากลัว หากจะกล่าวให้หนัก ก็คือ การใส่ร้ายป้ายสีอย่างลอย ๆ โดยไร้พยานหลักฐาน แน่นอนว่าเหล่านี้ย่อมก่อให้เกิดความเข้าใจผิดทั้งในทางเนื้อหาข้อเสนอ และทั้งเจตนารมณ์ของคณะนิติราษฏร์ เกิดข้อกังขาทั้งในประเด็นการเมือง และเรื่องส่วนตัว แต่แทบไม่มีพื้นที่ให้ประเด็นในหลักการทางกฎหมาย และการถกเถียงด้วยปัญญา ที่น่าสนใจยิ่ง ก็คือ คำถามต่าง ๆ เกิดขึ้นเสมือนหนึ่งว่าคณะนิติราษฎร์ไม่เคยจัดแถลงและอธิบายรายละเอียดของข้อเสนอมาก่อนเลย หรือมิเช่นนั้นก็เสมือนผู้ตั้งคำถาม คนให้สัมภาษณ์ คนเขียนข่าว คอลัมนิสต์ไม่ได้อ่านข้อเสนอของนิติราษฏร์ซึ่งเขียนไว้ชัดเจนตั้งแต่แรกแล้วในประเด็นที่สงสัย
การพร้อมใจกันเสนอข่าวโจมตีไปในแนวเดียวกันในช่วงสัปดาห์แรก ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมในสังคมไทยมากอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน มีบุคคลและองค์กรสาธารณะทั้งในและนอกวงการกฎหมายกระโจนเข้าวิพากษ์คัดค้าน แต่มีเพียงน้อยนิดที่ยืนอยู่บนตรรกหลักการและเหตุผล จนในที่สุดนิติราษฏร์จำเป็นต้องเปิดแถลงข่าวเพื่อตอบคำถามสื่อมวลชนและบรรดาผู้คัดค้านอีกครั้งในวันอาทิตย์ถัดมา คือวันที่ 25 กันยายน 2554 สัปดาห์หลังจากนั้น สื่อมวลชนจำนวนหนึ่งเสนอข่าวที่มีรายละเอียดของข้อเสนอ และคำอธิบายข้อเสนอครบถ้วนขึ้น แม้สื่อบางสำนักจะยังไม่เปลี่ยนแปลงความคิดเห็นและลักษณะการเสนอข่าวของตน แต่ก็เป็นที่น่ายินดีว่าบทวิเคราะห์วิจารณ์ของสื่ออีกหลายสำนักเป็นไปอย่างมีเหตุมีผล บางสำนักมีท่าทีเปลี่ยนไปจากสัปดาห์แรกอย่างชัดเจนราวเหวกับฟ้า (ตัวอย่างเช่น เดลินิวส์) (ดูปฏิริยาต่อข้อเสนอนิติราษฏร์ที่ "นิติราษฏร์ Effect - ปฏิกิริยาต่อข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฏร์" ของเว็บไซท์ http://www.siamintelligence.com)
แม้ว่าในท้ายที่สุด ด้วยเหตุแห่งการใส่สีกวนตีประเด็นโดยสื่อมวลชน จะยังผลให้แนวคิดสำคัญที่ว่าด้วย "การลบล้างผลพวงของรัฐประหาร" ซึ่งเป็นเรื่องใหม่และยังไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทย เป็นที่รับรู้และสนใจในวงกว้าง เป็นคุณูปการต่อประชาชนและต่อข้อเสนอของคณะนิติราษฏร์เอง แม้ผลจากการแถลงข่าวครั้งที่สองของนิติราษฏร์จะทำให้เกิดบรรยากาศแห่งการถกเถียงที่เป็นวิชาการยิ่งขึ้น ทำให้ประชาชนเข้าใจข้อเสนอได้ถูกต้องขึ้น ก็ตาม แต่อันที่จริงแล้วการแถลงข่าวครั้งที่สองของนิติราษฏร์คงไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นเลย ประชาชนทั่วไปน่าจะเข้าใจข้อเสนอได้ตั้งแต่ครั้งแรก หากสื่อมวลชนไทยทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาตั้งแต่ต้น
สื่อมวลชน อำนาจที่สี่แห่งรัฐสมัยใหม่ !
อาจกล่าวได้ว่า นอกเหนือจากสามอำนาจหลักในหลักการแบ่งแยกอำนาจ กล่าวคือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ แล้ว สื่อ เปรียบเสมือนอำนาจที่สี่ แห่งรัฐสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐในยุคข้อมูลข่าวสาร (ผู้เขียนตั้งใจไม่ใช้ว่า สื่อ คือ "ฐานันดรที่ 4" เพราะเป็นคนละกรณีกัน เรื่องฐานันดรเป็นการพูดถึงสื่อที่เน้นไปในเชิงกลุ่มที่มีอภิสิทธิ์ เพิ่มเติมจาก 3 ฐานันดรเดิม คือ กษัตริย์ ศาสนา และรัฐสภา) หากเราให้คำนิยาม "สื่อ" หรือ Media ว่าหมายถึง การส่งสาร หรือข้อมูลใด ๆ สู่มวลชนโดยไม่จำเพาะเจาะจง ไม่จำกัดรูปแบบของสารที่ส่ง ตัวหนังสือ ภาพ และ/หรือ เสียง รวมทั้งไม่สำคัญว่าตัวรับ-ตัวส่งมีหน้าตาเป็นอย่างไร ก็ควรต้องกล่าวว่า "สถานะความเป็นอำนาจที่สี่" ของสื่อ เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง มิใช่เพิ่งเกิดในยุคมิลเลนเนี่ยมที่ได้เครื่องมือชิ้นใหม่อย่างคอมพิวเตอร์ กับอินเทอร์เน็ตมาช่วยกระจายข้อมูลข่าวสาร
ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า นานมาแล้วที่หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ไม่ได้ทำเฉพาะหน้าที่พื้น ๆ อย่างการเป็น "ตัวกลาง" ในการส่งผ่าน (Medium) "ข้อเท็จจริง" หรือ "ความเห็นของผู้อื่น" สู่ประชาชน เท่านั้น แต่มันยังเป็น "ตัวจักร" (Factor) สำคัญที่มีอิทธิพลต่อความคิดเห็นของประชาชน กระทั่งเป็น "ตัวสร้าง" อุดมการณ์ความคิดเห็นของประชาชนให้เกิดขึ้น (ในทางหนึ่งทางใด) เสียเอง ถ้าว่ากันที่เรื่องทางการเมืองการปกครอง สื่อเป็นทั้งตัวเชื่อมโยงประชาชนกับอำนาจรัฐ และทั้งตัว "ถ่วงดุล" อำนาจรัฐทั้งสาม และด้วยพลังอำนาจ และความทรงประสิทธิภาพของสื่อเช่นนี้เอง ในด้านหนึ่ง สื่อจึงไม่ควรถูกใช้เป็นเครื่องมือ หรือตกอยู่ภายใต้ "อำนาจรัฐ" ทั้งปวง รวมทั้งของ "อำนาจอื่น ๆ" ในรัฐ (เช่น ทุน, ความจงรักภักดี ฯลฯ) และถือเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องมี "กฎหมาย" คุ้มครองความเป็นอิสระของสื่อ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็ควรมีเครื่องมือในการ "ตรวจสอบ" บทบาทและการทำหน้าที่ของสื่อ
เสรีภาพสื่อ คือ เสรีภาพประชาชน ?
ช่วงหลายปีที่ผ่านมาการเรียกร้อง "เสรีภาพ" ในเรื่องที่เกี่ยวกับสื่อที่เกิดขึ้นในเมืองไทย จำนวนมากมักเป็นการเรียกร้องความคุ้มครองจากรัฐ โดยอาศัย "เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร" (Freedom of Speech and Information) เป็นมูลฐาน ซึ่งถือเป็น "สิทธิขั้นพื้นฐาน" เป็นกรณีที่ "ประชาชนสู้กับอำนาจรัฐ" ไม่ให้รัฐปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร หรือทำลายพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็น (หลายครั้งที่คนทำสื่อเองก็เข้ามาเรียกร้องในเหตุผลนี้ แต่ในฐานะประชาชนคนหนึ่งไม่ใช่ในฐานะคนทำสื่อ) และโดย "สถานภาพแห่งตัวมันเอง" ที่เป็นถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน รัฐจึงมีหน้าที่ต้องให้ "ความคุ้มครอง" แก่ประชาชนในเรื่องนี้เสมอ ลักษณะการเรียกร้องเช่นนี้ อันที่จริงแล้วจะแตกต่างจากกรณีของการเรียกร้องโดยอาศัยเหตุผลในเรื่อง "เสรีภาพสื่อ"(Freedom of the Press) มาเป็นฐาน เพราะเป็นเรื่องระหว่าง สื่อหรือคนทำงานสื่อสู้กับอำนาจรัฐ (หรืออำนาจอื่นใด) เป็นการต่อสู้เพื่อไม่ให้พวกเขาต้องทำงานด้วยเจตจำนงค์ที่ไม่เป็นอิสระ ตัวอย่าง เช่น การต่อสู้ของไอทีวีในยุคจะถูกควบกลืนโดยรัฐ รวมทั้งการต่อสู้ของ "พนักงาน" ไอทีวีในยุคที่ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นต้น
สิ่งที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญระหว่างเสรีภาพประการแรกกับประการหลัง ก็คือ เสรีภาพประการหลังนี้ ซึ่งอาจเรียกเต็มๆ ว่า"เสรีภาพ (ในการจัดการ) สื่อ (สารสู่มวลชน)" ไม่ได้มีสถานะเป็น "สิทธิขั้นพื้นฐาน" ที่ต้องได้รับ "ความคุ้มครอง" โดยตัวของมันเอง และอย่างเสมอไป แต่ "ความคุ้มครอง" จะมาพร้อมกับ "การทำหน้าที่" เท่านั้น กล่าวอีกอย่าง ก็คือ "สิ่งที่กฎหมายให้ความคุ้มครอง" ในกรณีนี้ไม่ใช่ "ตัวสื่อหรือตัวคนทำสื่อ" แต่คุ้มครอง "บทบาทและการทำหน้าที่ของสื่อ" ต่างหาก ทั้งนี้ โดยมีเป้าหมายเบื้องหลังเพื่อให้ "การรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน“ ได้รับประกันความเสรีอย่างแท้จริง ได้รับข้อมูลทุกแง่มุม ไม่ถูกปิดบัง หรือต้องถูกบิดเบือนไปเพราะความไม่อิสระของสื่อ หรือเพราะการใช้อำนาจในทางมิชอบของสื่อเอง
ภายใต้แนวคิดเช่นนี้ จึงย่อมเป็นเรื่องเข้าใจได้ว่า สื่อที่ไม่ทำหน้าที่แห่งสื่อที่แท้จริง สื่อที่ไม่มีจรรยาบรรณ นำเสนอความจริงไม่ทั้งหมด บิดเบือนเฉือนข่าว เต้าข่าว มุ่งหมายให้สังคมเกิดความเข้าใจผิด ฯลฯ จึงมีโอกาสถูกตรวจสอบ หรือควรต้องถูกตรวจสอบโดย "ประชาชนผู้รับสื่อ" กรณีที่แย่คือ ถูกจำกัดความคุ้มครองลง หรือกระทั่งถูกลงโทษได้ ทั้งนี้โดยอาศัยมาตรการทางกฎหมาย หรือมาตรการทางสังคม (ไม่ซื้อ ไม่อ่าน ไม่ดู ฯลฯ) เพราะสื่อแบบนี้ แท้ที่จริง ก็คือ ตัวการทำลายเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนเสียเอง ดังนั้น คำว่า "เสรีภาพสื่อ" ในที่นี้จึงเป็น "ภาพสองมิติ" ที่นอกจากนัยของการ "คุ้มครองสื่อจากอำนาจรัฐ" (สื่อ vs. รัฐ) แล้ว ยังหมายถึง "คุ้มครองผู้รับสื่อจากอำนาจสื่อ" (ประชาชน vs. สื่อ) ด้วย
อย่างไรก็ตาม นับว่าน่าเสียดายที่ในเมืองไทย คำ ๆ นี้มักถูกจำกัดให้แคบ และแสดงให้เห็น หรือเน้นที่ภาพมิติแรกเพียงมิติเดียว คือ การคุ้มครองสื่อจากอำนาจรัฐ เท่านั้น สำหรับประเด็นที่เป็นสาธารณะแล้ว การต่อสู้เพราะมีการ "คุกคามสื่อ" จึงย่อมมีมากกว่า การต่อสู้เพราะ "ถูกสื่อคุกคาม" ซึ่งเหล่านี้อาจเกิดขึ้นเพราะความสับสนระหว่าง สิทธิขั้นพื้นฐาน กับสิทธิของสื่อ คนจำนวนหนึ่งเข้าใจว่าเหมือนกัน หรือกระทั่งเป็นสิ่งเดียวกัน ดังนั้นไม่ว่า "สื่อน้ำเน่าหรือสื่อน้ำดี" ก็ล้วนมีระดับความคุ้มครองเท่าเทียมกัน เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน การกล่าวสโลแกน "เสรีภาพสื่อ คือ เสรีภาพของประชาชน" โดยไม่มีคำอธิบายเพิ่มเติม แสดงให้เห็นความปนเปในเรื่องนี้ได้อย่างดี ความสับสนนี้รุนแรงขึ้นอีกในยุค Web 2.0 และ "สื่อพลเมือง" ก่อกำเนิด ทำให้เส้นแบ่งระหว่างประชาชน (คนรับสื่อ) กับสื่อ (คนทำสื่อ) พร่าเลือนไป แต่เอาเข้าจริงแล้ว "สองเสรีภาพ" ที่กล่าวถึงนี้โดยตัวมันเองมีจุดเหลื่อมซ้อนกัน ดังกล่าวไปแล้วว่าถ้าคนทำสื่อไม่มีอิสระ ผลที่เกิดขึ้นก็คือความเสรีในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนถูกกระทบกระเทือน สุดท้ายมิติที่สองที่ประชาชนเองต้องตรวจสอบสื่อด้วยจึงถูกมองข้ามไป
ประชาชนต้องรู้เท่าทัน และทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของสื่อ
แม้ไม่ใช่ประเด็นหลักในการเรียกร้อง แต่ช่วงหลายปีที่ผ่านมาดูเหมือนคนไทยจำนวนหนึ่งเริ่มถามหาจรรรยาบรรณของสื่ออย่างจริงจังมากขึ้น เพราะสื่อของบางสำนักแสดงอิทธิฤทธิ์และอำนาจในทางลบได้แจ่มชัด แต่ปัญหาที่ต้องคิดต่อ ก็คือ จนถึงปัจจุบันประชาชนไทยมีเครื่องมือตรวจสอบการทำงานของสื่อแล้วหรือยัง รัฐธรรมนูญ เยอรมันบัญญัติหลักความคุ้มครองเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและการแสดง ความคิดเห็นของประชาชน (Meinungs- und Informationsfreiheit) กับ เสรีภาพสื่อ (Medienfreiheit) ไว้ในมาตราเดียวกัน แต่คนละประโยค นอกจากศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันจะเคยตีความว่า "เสรีภาพสื่อ" หมายรวมทั้ง การคุ้มครองสื่อจากรัฐ และ คุ้มครองประชาชนจากสื่อ แล้ว เยอรมันยังมีกฎหมายอีกหลายฉบับ (เรียกรวม ๆ ว่า Medienrecht) ที่กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับ "บทบาทและการทำหน้าที่ของสื่อ" ส่วนในกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญาเยอรมัน นอกจากบทที่ว่าด้วย การคุ้มครองคนทำงานสื่อจาก "อิทธิพล" ต่าง ๆ (รัฐ, ทุน ฯลฯ) แล้ว ยังมีบทลงโทษที่เกี่ยวกับการทำงานสื่อ อาทิ ห้ามนำหมิ่นประมาทบุคคลอื่น ห้ามนำเสนอข้อมูลที่เป็นอันตรายต่อเด็กและเยาวชน ห้ามโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) ลัทธิการเมืองหัวรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งห้ามสร้างความแตกแยกในหมู่ประชาชน (Volksverhetsung) ยั่วยุ ปลุกปั่นความรุนแรง ทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ด้วยการใช้เนื้อหา หรือถ้อยคำที่ชัดเจนในเชิงปฎิปักษ์ หรือโดยอาศัยความแตกต่างกันระหว่าง ความเชื่อ เชื้อชาติ ศาสนา มาว่าร้าย ด่าทอประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยความมุ่งหมายเพื่อสร้างความเกลียดชังกันเองในหมู่ประชาชน หรือเพื่อทำลายสันติภาพในสังคมโดยรวม (มาตรา 130 ประมวลกฎหมายอาญาเยอรมัน)
ใช่ว่าบทบัญญัติต่าง ๆ ในทำนองเดียวกับที่กล่าวมาจะไม่มีเสียเลยในประเทศไทย แต่ปัญหาคือ เครื่องมือที่มีอยู่ยังดูบิดเบี้ยว ไม่สมบูรณ์สำหรับรัฐประชาธิปไตยปกติ เครื่องมือตรวจสอบไม่ว่าจะเป็น พรบ.จดแจ้งการพิมพ์, พรบ.วิทยุคมนาคม, พรบ.วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์, พรบ.ภาพยนตร์และวีดีทัศน์ หรือพรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โดยส่วนใหญ่ไม่ใช่เครื่องมือของประชาชนเพื่อตรวจสอบการทำงานของสื่อ แต่เป็นเครื่องมือของรัฐในการควบคุมสื่อ กฎหมายเหล่านี้นอกจากควบคุมในแง่เงื่อนไขการประกอบการ และคุณสมบัติของผู้ประกอบการแล้ว บางฉบับยังก้าวล่วงคุม "เนื้อหา" ในสื่อด้วย รัฐสามารถเซ็นเซอร์ได้ทั้ง "ก่อน" และ "หลัง" การเผยแพร่ รวมทั้งมีบทลงโทษทางอาญากำกับ ซึ่งแตกต่างจากกฎหมายสื่อสารมวลชน (อย่างน้อย ๆ ก็) ในเยอรมัน ที่กำหนด สิทธิและหน้าที่ของสื่อมวลชนไว้เพียงที่เกี่ยวกับเงื่อนไขการประกอบการ สิทธิการเข้าถึงแหล่งข้อมูล ภาระในการคุ้มครองเด็กและเยาวชน การต้องเสนอข่าวสารทุกแง่มุม รวมทั้งหลักเกณฑ์ในเรื่องเงินทุนดำเนินการ โฆษณา และจะไม่ก้าวล่วงคุม "เนื้อหา" ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดห้ามรัฐเซ็นเซอร์ "ก่อนการเผยแพร่" (Vorzensur) การเซ็นเซอร์ภายหลังนั้นแม้ทำได้ แต่ก็โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ชัดเจนเท่านั้น บทลงโทษที่เกี่ยวกับ "เนื้อหา" สื่อ จะไปกำหนดในกฎหมายอื่น เช่น แพ่ง พาณิชย์ อาญา ทรัพย์สินทางปัญญา เด็กและเยาวชน จึงเท่ากับเป็นอำนาจและหน้าที่ของประชาชนโดยตรงที่จะต้องคอยถ่วงดุลตรวจสอบการทำงานของสื่อ แม้กับเนื้อหาที่เกี่ยวกับการเมืองการปกครอง และเรื่องส่วนรวม โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับตนเองโดยตรงอย่างกรณีของการถูกหมิ่นประมาท
เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ประเทศไทยจะมีมาตรา 115, 116 และ 117 ประมวลกฎหมายอาญา กำหนดความผิดที่เกี่ยวกับสื่อ คือ การกระทำด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด ในลักษณะยุยง ปลุกปั่นประชาชน ตำรวจ ทหาร แต่บทบัญญัติเหล่านี้ล้วนมีขึ้นเพื่อป้องกัน "ความกระด้างกระเดื่องของประชาชน" ที่อาจมีผลเสียต่อ "อำนาจรัฐ" เองทั้งสิ้น หาใช่มุ่งหมายคุ้มครอง "สันติภาพ" ในหมู่ประชาชนด้วยกันเองโดยตรงไม่ (ต่างจากเยอรมัน) ถ้อยคำหรือบทบัญญัตห้ามพูดจาบิดเบือน เร้าความรุนแรง ยุยงให้ประชาชนตั้งกลุ่มเกลียดชังต่อสู้กันเอง จึงไม่ปรากฎให้เห็น หรือมิเช่นนั้นก็สร้างบทบัญญัติคุ้มครองบุคคลจนเกิน "หลักความพอสมควรแก่เหตุ" (ตามมาตรา ๒๙ รัฐธรรมนูญแ่ห่งราชอาณาจักรไทย 2550) อย่างมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา ที่กำลังเป็นปัญหาถกเถียงกันอยู่
ตรวจสอบสื่อ ตรวจสอบความเป็นกลางทางการเมือง ?
อาจเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันได้และยังไม่ยุติ แต่โดยส่วนตัว ผู้เขียนเห็นว่า “ความเป็นกลางทางการเมือง” ไม่เคยมีอยู่จริงในสังคมไทย ทั้งนี้ไม่ว่าในวงการใดก็ตาม รวมทั้งวงการสื่อสารมวลชน และไม่ว่าสื่อพลเมือง หรือสื่ออาชีพ เพียงแต่วงการเหล่านั้นจะยอมรับความจริงในเรื่องนี้หรือไม่เท่านั้น การพาดหัวข่าว การเขียนข่าว คำถามที่ใช้สัมภาษณ์แหล่งข่าว การวิเคราะห์ข่าว แม้กระทั่งการวาดการ์ตูน หากพิจารณาให้ดีย่อมแสดงถึงแนวคิด ทัศนคติที่มีต่อโลกและสังคม และอุดมการณ์ทางการเมืองของตัวผู้นำเสนอ คงเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก หรืออาจทำไม่ได้เลย ที่ประชาชนทั่วไป นักวิชาการ นักการเมือง บุคคลสาธารณะ รวมทั้งคณะนิติราษฏร์จะเรียกร้อง “ความเป็นกลางทางการเมือง” หรือร้องขอให้บรรดาสื่อปรับเปลี่ยน “อุดมการณ์ทางการเมือง” ของตนเอง แต่น่าจะถือเป็นเรื่องชอบธรรมอย่างเต็มที่ ที่สื่อจะถูกเรียกร้องได้เสมอว่าต้องทำหน้าที่เสนอ “ข้อเท็จจริง” ให้ครบถ้วน ไม่บิดเบือนเฉือนแต่ง จนทำให้ประชาชนผู้รับสื่อเข้าใจผิดในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ที่สื่อนั้นเลือกที่จะนำเสนอสู่สาธารณชนแล้ว เพราะนั่นคือการทำหน้าที่รักษาเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน โดยรวม อันเป็นฐานของการได้มาซึ่งเสรีภาพในการนำเสนอข่าวของสื่อ ปัจจุบัน หากเราเชื่อมั่นในวิจารณญาณของประชาชน การเลือกนำเสนอข่าวสารที่เทน้ำหนักไปยังข้างใดข้างหนึ่งตามอุดมการณ์ทางการเมืองของสื่อ อาจไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายอีกต่อไป ตราบใดที่รัฐเปิดพื้นที่การเสนอข่าวให้กับสื่อของทุก ๆ ฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน และปล่อยให้ประชาชนได้ใช้วิจารณญาณในการเลือกเอง แต่ย่อมเป็นเรื่องหนักหนาและไม่อาจยอมรับได้หากสื่อเหล่านั้น นอกจากไม่เป็นกลางแล้ว ยังปิดกั้นข้อมูล บิดเบือนข้อเท็จจริง ใส่ร้ายป้ายสีฝ่ายตรงข้าม กระทั่งเต้าข่าว หวังสร้างหรือกำหนดทิศทางความคิดเห็นของประชาชนเพื่อบรรลุเป้าหมายของพวกตน และนี่คือประเด็นสำคัญที่สื่อต้องถูกประชาชนตั้งคำถามและปรับเปลี่ยน
มิติในเรื่อง "เสรีภาพสื่อ" โดยมี "ประชาชนเป็นผู้ตรวจสอบสื่อ" (ย้ำว่า ไม่ใช่เรื่อง รัฐตรวจสอบหรือควบคุมสื่อ) นี้น่าจะมีความสำคัญและจำเป็นมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในหลายเรื่องของประเทศไทย ทั้งการเมืองการปกครอง การเรียกร้องความเป็นธรรม รวมทั้งการเปลี่ยนผ่านรัชสมัย จริงอยู่ที่สื่อใหม่อย่างอินเทอร์เน็ต เครือข่ายออนไลน์ วิทยุชุมชน รวมทั้งเคเบิ้ลท้องถิ่นเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทั้งยังช่วยคานอำนาจการนำเสนอข้อมูลข่าวสารโดยสื่อกระแสหลัก หรือสื่อประเภทดั้งเดิมทั้งหลายได้ แต่ก็ยังมิอาจต้านทานแนวคิด อุดมการณ์ที่สื่อกระแสหลักพยายามกำหนดสร้าง หรือยัดเยียดลงสู่สังคมได้ทั้งหมด ปรากฎการณ์ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน อีกทั้งการวิพากษ์วิจารณ์ข้อเสนอของนิติราษฏร์อย่างไร้เหตุผลในช่วงสัปดาห์แรก จนนิติราษฏร์กลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในคนทุก ๆ กลุ่มอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน (ทั้งที่นิิติราษฏร์ก่อตั้งมาแล้วกว่า 1 ปี) น่าจะยืนยันได้ว่าสื่อดั้งเดิมยังทรงอิทธิพลอยู่มาก
ปรากฎการณ์นิติราษฏร์ทำให้เห็นปัญหาของสื่อไทยได้ชัดขึ้น
ในงานแถลงข่าวรอบสองของนิติราษฎร์ สื่อจำนวนหนึ่งที่เขียนโจมตีไปในสัปดาห์แรกไม่มาร่วมงาน ไม่มารับฟังข้อมูลที่เป็นจริง และยังตั้งหน้าตั้งตาเขียนข่าวตามความเชื่อของตนต่อไป สื่อจำนวนหนึ่งในงานกล่าวได้น่าเห็นใจว่า ช่วงเวลาแห่งความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศไทยอันต่อเนื่องยาวนาน สื่อถูกรังแก ถูกกระทำจากทุกฝ่ายมาโดยตลอด ซึ่งแตกต่างจากต่างประเทศที่คู่ขัดแย้งมักไม่ลงที่สื่อ แต่ปัญหาก็คือ คำกล่าวนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ “สื่อไม่เคยตรวจสอบการทำหน้าที่ของตัวเอง” หากสอบทานให้ดีเราอาจพบว่า เอาเข้าจริงแล้ว สื่อเมืองไทยเล่นบทผู้ลงมือกระทำให้เกิดความขัดแย้ง เท่ากับหรือเผลอๆ จะมากกว่า บทผู้ถูกรังแก หรือโดนกระทำจากความขัดแย้ง นับเป็นเรื่องน่าสนใจเมื่อเราพบว่า เส้นทางของขบวนการต่อสู้ของสื่อหัวก้าวหน้าในต่างประเทศแม้ในประเทศใกล้เคียงอย่าง มาเลเซียและฟิลิปปินส์ คือ การต่อต้านเผด็จการ สู้เพื่อหลักการประชาธิปไตย และช่วยยืนยันสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ขบวนการสื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อกระแสหลักในบ้านเราดูเหมือนไม่เป็นแบบนั้น จริงอยู่คงมิอาจเหมารวมได้ว่าสื่อที่ออกข่าวโจมตีข้อเสนอนิติราษฎร์เป็นสื่อที่ยินดีหรือเห็นด้วยกับการรัฐประหาร (สื่อบางสำนักแสดงให้เห็นว่าเห็นด้วยกับรัฐประหารจริง) แต่สื่อเหล่านี้ย่อมตกอยู่ในกลุ่มผู้ต้องสงสัยได้ว่าไม่ชัดเจนหรืออาจไม่เห็นด้วยนักกับแนวทางประชาธิปไตย เหตุใดสื่อรังเกียจและทำท่ารับไม่ได้อย่างออกนอกหน้าต่อการนิรโทษกรรมให้คน ๆ เดียว (ซึ่งไม่ใช่ข้อเสนอของนิติราษฏร์ด้วย แต่สื่อคิดเองเออเอง) ในขณะที่ไม่แสดงอาการเดียดฉันหรือตั้งคำถามต่อการออกกฎหมายนิรโทษกรรมตัวเองโดยคณะผู้ทำรัฐประหาร ? ด้วยเหตุผลกลใด หรือด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองแบบใดกัน ที่ทำให้สื่อไม่รู้สึกยินดี หรืออย่างน้อยพยายามทำความเข้าใจกับข้อเสนอที่เสนอให้เอาตัวผู้ทำรัฐประหารมาลงโทษ แต่กลับตั้งหน้าตั้งตาเบี่ยงประเด็นจนอาจกลายเป็นการช่วยปกป้องคนยึดอำนาจประชาชน ? ข้อเสนอของนิติราษฏร์ในประเด็นลบล้างผลพวงรัฐประหาร วางอยู่บนหลักการที่ไม่ยอมรับการทำรัฐประหารไม่ว่ารัฐประหารนั้นจะเกิดขึ้นแล้ว หรือยังไม่เกิดขึ้น ทั้งนี้ชัดเจนตั้งแต่การเสนอในครั้งแรกว่า ให้ผลที่สำคัญ ๒ ประการคือ 1. ทำให้บท “นิรโทษกรรมตัวเอง” ของผู้ก่อรัฐประหารสิ้นผล เป็นโมฆะ เพื่อจะนำคนทำรัฐประหารมาลงโทษตามกฎหมาย ยืนยันว่าเป็นการกระทำความผิดในระบอบประชาธิปไตย และซึ่งแน่นอนการทำเช่นนี้ย่อมให้ผลเป็นการป้องกันการทำรัฐประหารในอนาคตไปด้วยในตัว 2. ลบล้างกฎหมาย หรือประกาศที่ออกโดยผู้ทำรัฐประหาร รวมทั้งล้างคำตัดสินของศาลที่เริ่มต้น หรือเกี่ยวพันโดยตรงจากการทำรัฐประหาร เช่น รับคำร้องจากคตส. หรือใช้ประกาศคปค.เป็นฐานในการตัดสิน โดยไม่ใช่การลบล้างความผิด หรือนิรโทษกรรมให้กับใคร ความผิดยังคงอยู่ และเมื่อลบล้างแล้ว ให้เริ่มการพิจารณาความผิดของผู้นั้นใหม่ตามกระบวนการยุติธรรม
แต่เรากลับหาข้อเท็จจริง 2 ประการนี้ได้ยากยิ่งจากการเสนอข่าวของสื่อทั้งหลายในสัปดาห์แรก ถ้าเราเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร สังคมจะแตกแยกได้อย่างไรหากข้อเสนอของนิติราษฎร์ถูกนำเสนอโดยครบถ้วนต่อสาธารณชน ไม่ถูกบิด ถูกเฉือน หรือถูกเลือกนำเสนอเพียงบางด้าน ในกรณีที่หนักหนา คือ สิ่งที่ถูกนำเสนอในนามนิติราษฏร์ กลับไม่ใช่สิ่งที่นิติราษฏร์ต้องการนำเสนอ
ด้วยเหตุนี้เอง แม้สื่อบางสำนักจะอ้างว่าตนมีอุดมการณ์ประชาธิปไตย แต่ย่อมไม่อาจหลุดพ้นจากคำตำหนิไปได้ เพราะดูเหมือนพวกเขาไม่ทำการบ้าน ไม่หาข้อมูล ไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนเสนอข่าว เขียนข่าวมักง่าย ฉาบฉวย เสี้ยมแหล่งข่าว โดยมุ่งหวังขายข่าวหวือหวาน่าติดตามแต่ถ่ายเดียวโดยขาดความรับผิดชอบ และด้วยวิธีการทำงานแบบนี้ของสื่อ สื่อเองใช่หรือไม่ที่กำลังเล่นบทเป็น “ตัวการหรือตัวจักร” ทำให้สังคมแตกแยก โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างคนที่เกลียดกลัว กับไม่เกลียดกลัวผีทักษิณ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวอะไรเลยกับข้อเสนอของนิติราษฏร์
ภายหลังการแถลงข่าวรอบที่สองของนิติราษฏร์ เริ่มมีนักวิชาการทั้งด้านกฎหมายและอื่น ๆ แสดงความคิดเห็นแย้งและสนับสนุน แม้จำนวนหนึ่งจะยังคงดึงดันโต้ตอบโดยไร้เหตุผลไม่ต่างอะไรกับเด็กอมมือ แต่ก็มีบางกรณีที่พยายามหาเหตุผลมาเสนอแย้ง บรรยากาศแห่งการแลกเปลี่ยนทางวิชาการกระเตื้องขึ้น นักวิชาการทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่งัดข้อกฎหมายขึ้นซัดกันนัวและน่าสนุก แต่สิ่งที่น่าเสียดาย ก็คือ เรื่องราวเหล่านี้ไม่ปรากฎในหน้าสื่อกระแสหลักฉบับที่เคยเขียนโจมตีนิติราษณฎร์อีกต่อไปแล้ว มันเป็นเรื่องของโลกออนไลน์ มันเป็นความเคลื่อนไหวในกลุ่มเฟสบุ๊ก ซึ่งชี้ให้เห็นว่าสื่อกระแสหลักไม่สนใจเล่น หรือให้พื้นที่ข่าวกับเรื่องที่เป็นเนื้อหาสาระจริงจัง ที่กล่าวเช่นนี้ไม่ใช่การดูแคลนศักยภาพของสื่อใหม่ สื่อใหม่อย่างเครือข่ายออนไลน์อาจมีบทบาทในการนัดพบ ขับเคลื่อนประเด็นการเมืองมากมาย และอาจถือเป็นเครื่องมือหนึ่งของประชาชนที่จะใช้ต่อกรกับสื่อเก่า แต่เราต้องยอมรับว่าทั้งจำนวนคนเล่น และกลุ่มผู้เล่นยังอยู่เพียงในวงจำกัด ตราบใดที่คนส่วนใหญ่ของประเทศยังเข้าถึงสื่อใหม่ไม่ได้ หรือไม่ได้คิดจะเข้าถึง ทั้งการกำหนดประเด็นให้เป็นวาระแห่งชาติ อุดมการณ์และทิศทางการเมือง ก็จะยังอยู่ในกำมือของสื่อเก่าที่ทั้งเน่าและไม่เน่าแต่ส่วนใหญ่ไม่ทำการบ้านอยู่ต่อไป
บทสรุป
เสรีภาพในการเสนอข่าวสารของสื่อ หรือเสรีภาพสื่อมีความสำคัญต่อเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน และแน่นอนสื่อย่อมมีเสรีภาพที่จะวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม แสดงความเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่ก่อนที่จะกระทำเช่นนั้นสื่อในฐานะผู้มีหน้าที่คุ้มครองเสรีภาพการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนด้วย จำเป็นต้องทำการบ้าน เสนอข้อเท็จจริงให้ครบถ้วนรอบด้านเสียก่อน จึงจะถือได้ว่าทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา มีจรรยาบรรณ ช่วยสร้างสังคมให้อุดมปัญญา ไม่ใช่สังคมแห่งความฉาบฉวย ดราม่า เต็มไปด้วยอารมณ์ ความรู้สึก
ในฝ่ายผู้รับสื่อนั้น ถ้าในที่สุดแล้วชักเริ่มเบื่อหน่ายแคมเปนเรียกร้องเสรีภาพสื่อเฝือ ๆ กลวง ๆ ที่ดันมีสื่อที่ไร้จรรยาบรรณขึ้นนำเป็นหัวหอก(เสียด้วย) ถ้าชักสะอิดสะเอียนกับสื่อน้ำเน่า สื่อเลว สื่อโง่ หรือสื่อแกล้งโง่ สื่อเล่นง่าย สื่อไม่ทำการบ้าน ที่เอาแต่ร้องว่าโดนรังแก ถ้าเซ็งเต็มแก่กับบทบาทและการทำหน้าที่ของสภาการฯ หรือองค์กรด้านสื่อ อาจถึงเวลาแล้วที่ต้องลุกขึ้นตะบันหน้า ตอกกลับ หรือตรวจสอบเรียกร้องจรรยาบรรณจากสื่ออย่างเป็นจริงเป็นจัง ในฐานะผู้ถืออำนาจรัฐโดยตรงกันเสียที การปฏิรูปส่งปฎิรูปสื่อในเมืองไทยจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหรือทำไปก็เท่านั้น ตราบใดที่สื่อทั้งหลายยังไม่คิดปฏิรูปตัวเอง
Souce / Image : http://www.enlightened-jurists.com/blog/49 |