ประเทศสเปน ประเทศสุดท้ายที่คณะนิติราษฎร์ได้ยกขึ้นเป็นตัวอย่างในข้อเสนอลบล้างผลพวงรัฐประหาร 19 กันยายนย 2549 คำว่า "ปรองดอง"ไม่ได้เกิดขึ้นที่ประเทศไทยเป็นแห่งแรก หากแต่ที่ประเทศสเปน เมื่อ 30 ปีก่อน คำว่า "ปรองดอง" คือที่มาของการออกมาตรการต่างๆ ซึ่งรวมถึงการออกกฎหมายนิรโทษกรรม และการอภัยโทษให้การกระทำต่างๆ ภายใต้ระบอบฟรังโก้ เพื่อ "ลืม" ความโหดร้ายอันเกิดขึ้นในสมัยนั้น ย้อนกลับไปเมื่อปี 2479 นายพลฟรานซิสโก ฟรังโก้ ใช้กำลังปราบปรามกลุ่มต่างๆ ที่เข้าร่วมในสงครามกลางเมือง และขึ้นสู่อำนาจด้วยการรัฐประหาร ภายใต้การปกครองแบบฟาสซิสต์ของนายพลฟรังโก้ กฎหมายและคำสั่งที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนมีให้เห็นอย่างเกลื่อนกลาด การใช้กำลังเข้าปราบปรามเข่นฆ่าคนที่เห็นต่าง เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง จนกระทั่ง ระบอบฟรังโก้ล่มสลายลง สเปนจึงได้เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบอบนิติรัฐ-ประชาธิปไตย ด้วยการนำของกษัตริย์ฆวน คาร์ลอส แต่บาดแผลจากการเจ็บจริง ตายจริง ไม่สามารถลืม ได้อย่างง่ายดาย ในเมื่อปี 2547 ปัญญาชน นักสิทธิมนุษยชน องค์กรเอกชน และกลุ่มเครือญาติของผู้เสียหายจากระบอบฟรังโก้ จึงได้จัดทำข้อเสนอถึงรัฐบาลสเปน ให้ลบล้างผลพวงของระบอบฟรังโก้ นั่นคือ ให้รัฐสภาตรากฎหมาย เพื่อประกาศความเสียเปล่าของทุกการกระทำที่มีผลทางกฎหมายในระบอบฟรังโก้ เสมือนไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลทางกฎหมาย เพราะเป็นการปกครองในระบอบฟาสซิสต์ รวมถึงให้ทุกคำพิพากษาของศาลอาญาและศาลทหาร และการดำเนินคดีอาญาในศาลอาญาและศาลทหาร ในสมัยระบอบฟรังโก้เสียเปล่า ไม่เคยเกิดขึ้น และไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย เนื่องจากเป็นการตัดสินตามอำเภอใจ และไม่ชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้ กลุ่มผู้เรียกร้องยังเสนอให้รัฐบาลออกมาตรการเยียวยาให้กับเหยื่อของคำพิพากษาและการดำเนินคดีภายใต้ระบอบฟรังโก้ ให้จัดตั้งหอจดหมายเหตุรวบรวมเอกสารทางประวัติศาสตร์บันทึกเรื่องราวในสมัยระบอบฟรังโก้ และให้รับรองสิทธิในการรับรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นของผู้เสียหายหรือญาติของผู้เสียหาย แต่น่าเสียดายว่ารัฐสภาของสเปนไม่ได้ตอบรับเท่าที่ควร เมื่อปีที่แล้ว กลุ่มผู้เรียกร้องจึงได้ยื่นข้อเสนออีกครั้ง โดยระบุว่า รัฐสภาต้องลบล้างการกระทำในสมัยระบอบฟรังโก้ และสามารถทำได้โดยไม่ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ และไม่กระทบกับผู้สุจริตด้วย ดังที่เคยมีตัวอย่างแล้วในกรณีลบล้างกฎหมาย คำพิพากษา และการกระทำในสมัยนาซีเยอรมัน Produced by Voice TV |