วันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2554

นักวิจัยชี้น้ำท่วมไทยเพราะพยากรณ์ผิดพลาด

นักวิจัยชี้น้ำท่วมไทยเพราะพยากรณ์ผิดพลาด

นักวิจัยกสิกรไทยระบุว่า น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ มาจากความผิดพลาดเรื่องการพยากรณ์และการบริหารน้ำในเขื่อน

 

เหตุน้ำท่วมใหญ่ที่อาจทำให้กรุงเทพมหานครจมอยู่ใต้น้ำเป็นเวลาถึงเกือบ 1 เดือนในครั้งนี้ นอกจากจะมีสาเหตุมาจากปรากฏการณ์ตามธรรมชาติแล้ว หลายฝ่ายยังมองว่านี่คือตัวอย่างสำคัญของความผิดพลาดของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการพยากรณ์อากาศหรือการบริหารจัดการน้ำ ที่ทำให้มวลน้ำปริมาณมหาศาลไหลทะลักเข้าท่วมหลายพื้นที่ของประเทศไทย

 

นางพิมลวรรณ มหัจฉริยวงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย ให้สัมภาษณ์กับโทรทัศน์ช่อง CCTV ของจีนว่า ความผิดพลาดในการพยากรณ์อากาศ และการบริหารน้ำในเขื่อน เป็นสาเหตุของน้ำท่วมใหญ่ในครั้งนี้

 

เธออธิบายว่า ก่อนหน้านี้มีการพยากรณ์ว่าจะเกิดน้ำแล้ง ดังนั้นเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารน้ำจึงเก็บกักน้ำไว้ในเขื่อนจนเกือบถึงระดับสูงสุด แต่เมื่อปรากฏว่าฝนตกลงมาเพิ่ม น้ำในหลายเขื่อนจึงเอ่อล้นขึ้น เช่นเขื่อนทางภาคเหนือของประเทศไทย ที่ระดับน้ำในเขื่อนขึ้นสูงถึงร้อยละร้อยในเวลาเดียวกัน ทำให้น้ำที่จะต้องไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาณมหาศาล และเป็นต้นเหตุของอุทกภัยในที่สุด

 

ในขณะที่นายสมิทธ ธรรมสโรช ประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ก็ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ว่า รัฐบาลไม่เอาใจใส่คำเตือนของผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการน้ำเท่าที่ควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตัดไม้ทำลายป่า การสร้างเขื่อน และการเบี่ยงเบนทางน้ำตามธรรมชาติ

 

นางพิมลวรรณคาดการณ์ว่า เหตุอุทกภัยในครั้งนี้ ส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจของไทยอย่างใหญ่หลวง ซึ่งทั้งภาคการท่องเที่ยวและภาคการเกษตรจะได้รับผลกระทบ โดยคาดว่าข้าวจะได้รับความเสียหายกว่า 5 ล้านตัน จากเดิมที่ในฤดูปลูกข้าวเช่นนี้ ไทยจะปลูกข้าวได้ทั้งสิ้นประมาณ 25 ล้านตัน

 

และมีการประมาณการณ์ว่า เหตุอุทกภัยสร้างความเสียหายให้กับประเทศไทยเป็นมูลค่ากว่า 1 แสน 8 หมื่นล้านบาท และตัวเลขความเสียหายจะสูงขึ้นเรื่อยๆ หากกรุงเทพจะต้องจมอยู่ใต้น้ำ

 

Produced by VoiceTV