นักวิชาการชี้ทุกฝ่ายต้องตั้งหลักเพื่อฝ่าวิกฤติ
เสวนาฝ่าวิกฤตน้ำใหญ่ท่วมกรุง 54 "ยิ่งแก้ไข ยิ่งรุนแรงและขัดแย้งมากขึ้น"ทำให้สังคมเห็นจุดบอดของการแก้ไขปัญหาอุทกภัยครั้งนี้มากขึ้น
นักวิชาการที่มาร่วมเปิดโต๊ะกลมในวันนี้มาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศาสตราจารย์ ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล เป็นตัวแทนจากหน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ คณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งในเวทีนี้ได้แสดงมุมมองต่อปัญหาความล้มเหลวในการรับมือน้ำท่วมกรุงเทพมหานครครั้งนี้ว่า ไม่ได้เกิดจากความรุนแรงของอุทกภัยเพิ่มขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเพียงอย่างเดียว แต่ยังเกิดจากการที่ภาครัฐไม่เข้าใจวิธีการใช้พื้นที่ให้เหมาะสมกับภูมิศาสตร์ จึงทำให้เกิดการสร้างนิคมอุตสาหกรรมหรือชุมชนในพื้นที่ลุ่มต่ำ
รวมถึงการสร้างเขื่อนและระบบสาธารณูปโภค มอเตอร์เวย์ ซึ่งในระยะสั้นเป็นประโยชน์ในการลดระดับน้ำแต่ในระยะยาว กลับเป็นอุปสรรคต่อการไหลของน้ำ ขณะเดียวกัน ยังไม่เคยมีการมีแผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมเลย ทั้งที่เป็นแผนที่ที่มีความสำคัญในการคาดการณ์ขนาดของน้ำท่วม ที่มักจะเวียนมาซ้ำกันทุก 25 50 หรือ 100 ปี ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ผู้แก้ปัญหาระดับสูงยังไม่เข้าใจ จึงทำให้เกิดการจัดการที่ไม่ถูกวิธีและไม่ถูกเวลา
ด้าน ศาสตราจารย์ สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง กล่าวว่า แม้ภัยพิบัติจะสะท้อนถึงความสามัคคีของคนไทย แต่ยังไม่มีการเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาร่วมกัน ขณะที่รัฐบาลยังตั้งหลักช้าเกินไป มีการเล่นการเมืองภายใน จึงทำให้ข้อมูลที่ส่งถึงประชาชนมีแต่ความสับสน จนไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้กับประชาชนได้ ดังนั้น ประชาชนจึงต้องเรียนรู้ที่จะรับมือกับน้ำด้วยตนเอง
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี กล่าวว่าภาคประชาสังคมมีการตื่นตัวในการเรียนรู้มากขึ้น พึ่งตนเอง ดังนั้นงานจึงมีอุปสรรคในการรวบรวมและส่งต่อข้อมูล ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำคือการจัดการความรู้ ทั้งการจัดศูนย์พักพิงให้ไปอยู่นอกเมืองไกลน้ำ แต่แนวคิดประชาสังคมกลับมองว่าควรอยู่ใกล้บ้านเพื่อให้เกิดการช่วยเหลือกัน ซึ่งอาจจะกลายเป็นโมเดลใหม่ ทั้งนี้ ปัญหาคือได้ข้อมูลไม่ครบ และมีข้อมูลที่ถูกต้อง และต้องกระตุ้นให้ชาวบ้านเข้าใจว่าจะปรับตัวอย่างไรและจะเข้าไปช่วยเหลือสถานการณ์อย่างไร และต้องศึกษาโครงสร้างของสังคมไทยใหม่ ซึ่งทำให้เห็นความเหลื่อมล้ำในสังคมใหม่
ด้านอาจารย์สุภาพร โพธิ์แก้ว อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า มวลน้ำมหาศาล ทำให้เกิดแนวโน้มที่สังคมหันกลับมาคิดว่าจะเรียนรู้วิถีน้ำและการปรับตัวของวิถีคน ทั้งนี้ ในส่วนของสื่อมวลชน กรุงเทพควรมีสื่อท้องถิ่นหรือไม่ เพราะเรื่องของ กทม.กินพื้นที่ของข่าวทั้งประเทศไป จึงควรมีการลดขนาดการสื่อสารให้อยู่เฉพาะใน กทม. ในขณะที่ช่องใหญ่ก็มองภาพทั้งประเทศ ปล่อยเสียงเทปอ่านต่อ ที่ผ่านมาหลังจากเกิดสึนามิ คนไทยมีความพยายามในการแก้ปัญหา แต่น้ำท่วมครั้งนี้ วงจรนี้ก็ยังไม่คืบหน้าแต่อย่างใดทั้งยังทับซ้อนกัน จึงนำไปสู่ความรู้สึกของความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำและการให้ความสำคัญกับ กทม.มากขึ้นไป ดังนั้นเราต้องทำข่าวดักหน้าน้ำ ไม่ใช่เดินตามน้ำ
ทั้งนี้ เวทีเสวนาเห็นตรงกันว่า สิ่งที่ต้องทำต่อจากนี้ คือความพยายามในการให้ประชาชนเกิดการตื่นตัวในการเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตอยู่กับความเปลี่ยนแปลงของธรราติ และผลักดันองค์ความรู้ที่มีอยู่ในหมู่นักวิชาการให้ไปถึงประชาชนให้มากที่สุด โดยร่วมมือกับภาคประชาชน โดยทั้งคณะนิเทศศาสตร์และภาคสังคม ต้องหารือร่วมกันกับนักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ในการให้ความรู้กับประชาชน
Produced by VoiceTV |