วันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2554

อังกฤษเปลี่ยนกฎมณเฑียรบาลให้หญิงขึ้นเป็นกษัตริย์ได้

อังกฤษเปลี่ยนกฎมณเฑียรบาลให้หญิงขึ้นเป็นกษัตริย์ได้

ประเทศอังกฤษเป็นอีกประเทศหนึ่ง ที่กฎหมายระบุให้ผู้สืบสันตติวงศ์เป็นพระราชโอรสเท่านั้น แต่ล่าสุด ที่ประชุมผู้นำรัฐบาลเครือจักรภพได้ลงมติแก้ไขกฎหมายดังกล่าว

 

ผู้นำรัฐบาลของ 16 ประเทศในเครือจักรภพ ที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองเป็นประมุขของรัฐ ลงมติเป็นเอกฉันท์ในการประชุมผู้นำรัฐบาลของประเทศในเครือจักรภพ ที่เมืองเพิร์ธ ประเทศออสเตรเลีย ให้แก้ไขกฎหมายการสืบสันตติวงศ์ของอังกฤษ ให้พระราชธิดามีโอกาสได้ขึ้นเป็นผู้สืบสันตติวงศ์เช่นเดียวกับพระราชโอรส รวมถึงยกเลิกข้อห้ามที่ไม่ให้พระมหากษัตริย์อภิเษกสมรสกับผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิกด้วย



แต่เดิมกฎหมายว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ที่เขียนขึ้นเมื่อประมาณ 300 ปีก่อน ระบุว่า ผู้ที่จะขึ้นมาเป็นกษัตริย์องค์ต่อไป จะต้องเป็นพระราชโอรสของพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันเท่านั้น เว้นแต่พระมหากษัตริย์ไม่มีพระราชโอรส จึงอนุญาตให้พระราชธิดาองค์โตเป็นผู้สืบสันตติวงศ์ต่อไป



การแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ จะกระทำเป็นลายลักษณ์อักษรในการประชุมรัฐสภาอังกฤษสมัยต่อไป โดยจะมีผลบังคับใช้กับพระราชโอรสหรือพระราชธิดาของดยุคและดัชเชสแห่งเคมบริดจ์เป็นสมัยแรก ซึ่งหากทั้งคู่มีพระราชธิดาเป็นองค์แรก พระราชธิดาของพระองค์ก็จะได้ขึ้นเป็นผู้สืบสันตติวงศ์ทันที



นายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ แสดงความเห็นต่อการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวว่า แนวความคิดที่ให้พระราชโอรสที่เป็นน้อง ขึ้นเป็นผู้สืบสันตติวงศ์แทนพระราชธิดาซึ่งเป็นพี่ เพียงเพราะเหตุผลเรื่องเพศ หรือการอนุญาตให้ผู้ที่จะขึ้นเป็นกษัตริย์อภิเษกสมรสกับชายหรือหญิงที่นับถือศาสนาใดก็ได้ ยกเว้นศาสนาคริสต์ นิกายคาทอลิกนั้น ถือเป็นความคิดที่แปลกประหลาดในประเทศสมัยใหม่อย่างมาก



ด้านนางจูเลีย กิลลาร์ด นายกรัฐมนตรีหญิงของออสเตรเลีย กล่าวว่า เธอรู้สึกยินดีกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นอย่างมาก เพราะถือว่าเป็นการยกระดับผู้หญิงให้มีความเท่าเทียมกับผู้ชาย และการประชุมผู้นำรัฐบาลของประเทศในเครือจักรภพนี้ จัดขึ้นเป็นประจำทุกสองปี โดยในปีนี้ พระราชดำรัสเปิดการประชุมของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบ็ธที่สอง มีเนื้อหาเกี่ยวกับการส่งเสริมบทบาทสตรีในสังคม แต่ไม่ได้มีการกล่าวถึงกฎหมายสืบสันตติวงศ์โดยตรง

 

 Produced by Voice TV