วันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

หลังศึกอภิปรายได้เวลา"ยิ่งลักษณ์"ประเมินทีมงาน

หลังศึกอภิปรายได้เวลา"ยิ่งลักษณ์"ประเมินทีมงาน

หลังศึกซักฟอก คงได้เห็นการจัดทัพกันใหม่ ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เพื่อประคองรัฐนาวาเตรียมส่งต่อให้ 111 สานงาน

 

*********

 

การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่ฝ่ายค้านโดยพรรคประชาธิปัตย์ พุ่งเป้าไปที่ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย หรือ ศปภ.

 

ด้วยการขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ตามรัฐธรรมนูญมาตรา159 โดยระบุสาเหตุของการยื่นว่าเนื่องจาก พล.ต.อ.ประชา กระทำการทุจริต บริหารราชการบกพร่อง ล้มเหลวไร้ประสิทธิภาพ รวมถึงปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริต อีกทั้งการบริหารยังขาดคุณธรรมและจริยธรรม และขัดหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ของบุคคลบางกลุ่มที่อาจนำไปสู่ความแตกแยกในสังคม และนำความเสียหายมาสู่ประเทศ

 

ส่วนมาตรการอื่น พรรคฝ่ายค้าน ยังได้ยื่นถอดถอน รมว.ยุติธรรม และอีก 6 ส.ส.พรรคเพื่อไทย โดยหลังอภิปรายจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยถึงความชอบของสมาชิกภาพ ส.ส.รวมทั้ง 7 คน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 265-266

 

แต่จะมองไปในกรณีนี้ ถือเป็นการล็อคเป้าถล่ม ไม่ได้ข้องเกี่ยวกับนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ส่วนหนึ่งพรรคประชาธิปัตย์ มองว่ายังไม่อยากลากการเมืองเข้าซ้ำเติมสถานการณ์อุทกภัย เนื่องจากแทนที่จะได้แต้ม กลับกลายจะถูกมองว่า “เล่นเกมการเมือง” ซึ่งจะทำให้ “น้ำเน่า” ไปเพิ่ม “น้ำท่วม” มากขึ้นไปอีก

 

ประกอบกับ ท่าทีถอยกลับลำ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต่อกรณีการประชุมครม. “ลับ ลึก ร้อน” เรื่อง พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ ที่ก่อนหน้านี้มีข่าวในทำนองว่า รัฐบาลจะผลักดันขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้ทันในวันมหามงคล 5 ธันวาคม โดยประเด็นสำคัญ จะมีชื่อของพ.ต.ท.ทักษิณ รวมอยู่ในนั้นด้วย

 

แต่การสวมบท “ไอ้เสือถอย” จึงช่วยลดแรงกดดันการเผชิญหน้า ของกลุ่มหนุนและกลุ่มต้าน ลงไปได้ แต่ก็เท่ากับว่าเริ่มแพล็มไต๋ ให้เห็นเป้าหมาย ของความช่วยเหลือเพื่อหวังเปิดทางให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้กลับบ้านโดยไม่ต้องรับผิด และสอดรับกับท่าทีของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ที่ปักธงมาตั้งแต่หาเสียงเลือกตั้งแล้วว่า จะเป็นผู้นำพ.ต.ท.ทักษิณ กลับประเทศไทยให้ได้

 

สถานการณ์ทางการเมืองจึงถูกขึงพืดขึ้นมาอีกครั้ง อีกทั้งยังเชื่อมต่อเข้ากับจังหวะการเปิดอภิปรายซักฟอก พล.ต.อ.ประชา ที่ผิดพลาดเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ถูกพรรคประชาธิปัตย์ใช้เวทีสภา ในการตีแผ่การบริหารงานของรัฐบาลที่ผิดพลาดว่าอยู่ที่ส่วนไหน จุดไหน หรือบุคคลใดอย่างไรบ้าง

 

แม้ว่าในช่วงแรกของการอภิปราย ฝ่ายค้านพยายามโยงเข้าเรื่องการช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ กับท่าทีของรัฐบาลที่พยายามผลักดันพ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ ทำให้เกิดการประท้วง และโต้ตอบกันไปมาจนทำให้อุณหภูมิเริ่มร้อนแรงขึ้นมาแต่เช้า แสดงให้เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ยังเป็นของร้อน และยังเป็นสายล่อฟ้า เรียกแขกเข้าได้เสมอ แต่เมื่อเป็นเรื่องที่กรณีนี้ยังไม่ได้มีอะไรเกิดขึ้น จึงทำได้แค่สร้างสีสันและความแสบทรวงแบบชั่วคราว เพราะต้องมาว่ากันเรื่องหลัก คือ ความบกพร่องในการบริหารจัดการน้ำ

 

ทั้งประเด็น เรื่องการเลือกใช้คนให้ถูกกับงาน เรื่องการบริหารจัดการความช่วยเหลือผู้ประสบภัย และเรื่องหลักคือ การบริหารการจัดการน้ำ ที่กลายเป็นประเด็นโถมเข้าใส่ “รัฐบาล” ผ่านทาง พล.ต.อ.ประชา ในฐานะผอ.ศปอ.โดยตรงอยางเลี่ยงไม่ได้ เป็นการสะท้อนความหย่อนประสิทธิภาพให้เห็นว่า รัฐบาลแถวสาม ยังทำงานชนิดที่ว่า “มือไม่ถึง”

 

แม้ว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์เข้ามาประมาณ 3 เดือน ยังไม่ทันได้โชว์ฝีมือการบริหารงานในสถานการณ์ปกติ ก็ต้องโดดเข้าสู่โหมดของการบริหารงานภายใต้สถานการณ์วิกฤตไปแล้ว และเมื่อผลลัพธ์ที่ออกมาจากฝีมือในการบริหารมวลน้ำ และการดูแลช่วยเหลือประชาชนในครั้งนี้ จึงอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ “ยิ่งลักษณ์”ได้ใช้เวลาช่วง “น้ำลด ข้อมูลผุด” จัดกระบวนทัพใหม่ เพราะเชื่อว่า “นายกฯยิ่งลักษณ์” คงได้ประจักษ์ด้วยตัวเองว่า รัฐมนตรีกระทรวงไหนทำงานกันอย่างไร แล้วใครที่อยู่เป็นเพื่อนแท้ในยามยากบ้าง

 

การอภิปรายในครั้งนี้ จึงอาจกลายเป็น “เครื่องมือ” หรือ “ข้อมูลอ้างอิง” เพื่อใช้ในการตัดสินใจปรับคนให้เหมาะสมกับการทำงานได้ง่ายขึ้น เนื่องจาก

 

ประการแรกแม้ว่าผลการโหวต เสียงในสภาคงไม่ทำให้เก้าอี้ของ พล.ต.อ.ประชา เกิดการเปลี่ยนแปลงอันเนื่องจากผลการอภิปราย แต่เชื่อว่านายกฯน่าจะได้สิทธิ และเหตุผลที่จะอธิบาย หากกำลังคิดที่จะปรับคนทำงานให้หมาะสมกับเป้าหมายของตัวเอง ที่มีความมุ่งหวังอยากให้งานออกมาดี เพราะแม้ว่าจะได้เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ในเวลาอันรวดเร็ว แต่เชื่อว่าในความมุ่งมั่นของ “ยิ่งลักษณ์”ย่อมต้องการสร้างความดีให้เป็นที่จดจำ มากกว่าจะส่งงานต่อด้วยเสียง กร่นด่า ซึ่งหากข้อมูลฝ่ายค้านพอเข้าตา สร้างกระแสตื่นตัวได้จริง นอกจาก พล.ต.อ.ประชา แล้ว อาจมีรมต.โลกลืม หรือ รมต.ทิ้งเพื่อน อีกหลายคน ต้องพลอยขยับไปด้วย

 

ประการที่สองในการหาคำตอบว่าใคร “บริหารน้ำ” ผิดพลาดกันแน่ เพราะเหตุการณ์ครั้งนี้ มีหลายฝ่ายเกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ดูแลเรื่องน้ำ กรุงเทพมหานคร หรือรัฐบาล ที่ต้องบริหารภาพรวม หากฝ่ายค้านจี้จุดไม่ตรง น่าจะเป็นโอกาสที่รัฐบาล ได้ใช้เวทีได้ชี้แจงและอธิบาย ตลอดจนสร้างความกระจ่างในข้อสงสัยต่างๆ ยิ่งถ้าหากพรรคประชาธิปัตย์ ยังไม่เปลี่ยนรูปแบบ เชื่อว่าคนที่กำลังเฝ้ารอคำตอบ เมื่อได้ฟังคำอธิบายจากคนควบคุมการทำงานแล้ว คงพอจะเข้าใจได้บ้าง

 

การจะหา “คนผิด” ซักคน คงไม่ใช่เรื่องง่าย สุดท้ายอาจจะต้องร่วมรับผิดชอบร่วมกัน เพราะผู้ว่าฯกทม.ก็เป็นคนในฝ่ายของพรรคประชาธิปัตย์เช่นกัน

 

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลคงจำเป็นต้องปรับครม.หลังจากการอภิปราย ไม่ใช่ว่าผลการอภิปรายจะดีเลิศ เพียงแต่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่นายกฯจำเป็นต้องจัดทีม เพื่อประคองสถานการณ์ และให้การบริหารดีขึ้น เพราะวันนี้รัฐมนตรีแถวสาม หลายฝ่ายยอมรับแล้วว่า “ทำงานไม่เต็มสูบ” สิ่งสำคัญจึงจำเป็นต้องรอ ทีมชุดใหญ่ ให้พ้นจากการดองเค็ม 5 ปี ในบ้านเลขที่ 111  กลับมาสานต่องานอีกครั้ง ที่เชื่อว่า “เป็นมืออาชีพ” และจะเข้ามากู้สถานการณ์ต่างๆให้ดีขึ้น

 

เมื่อถึงวันนั้น ถ้าต้องมีการเลือกตั้งกันใหม่ พอมองออกหรือยังว่า เสียงข้างไหนจะเป็นใหญ่ แล้วคิดหรือว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านวันนี้ไม่คิดกันบ้างหรือ

 

ทำไปทำมา เราอาจได้เห็นการกลับมาร่วมกันทำงานของ“เกลอเก่า”ที่แตกหน่อไปตั้งพรรคอื่นก็เป็นได้.

 

Produced by VoiceTV