วันพฤหัสบดีที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ช่องโหว่ของกฎหมาย "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ"

ช่องโหว่ของกฎหมาย "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ"

มหา'ลัยเที่ยงคืน ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง"ความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ"ซึ่งปัจจุบันมีปชช.บางกลุ่มบางคนใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการใช้หมิ่นเบื้องสูง

 

 

“การใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับกรณี ‘อากง’ ส่งผลให้คนจำนวนมากในสังคมรู้สึกอึดอัดและไม่พอใจเพราะผลการวินิจฉัยนั้นขัดแย้งกับสามัญสำนึกแห่งความยุติธรรม ซึ่งได้ส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อเนื่องไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น”

 

ในห้วงเวลาที่ความขัดแย้งในการเมืองไทยมีความรุนแรงมากขึ้น กฎหมายมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการใส่ร้ายป้ายสีบรรดาผู้คนที่ยืนอยู่ในฝ่ายตรงกันข้าม ซึ่งนำไปสู่การลงโทษอย่างรุนแรงมาอย่างต่อเนื่อง อันมีผลทำให้ความขัดแย้งยิ่งบานปลายออกไปมากขึ้น

 

โดยที่กฎหมายนี้มีปัญหาและข้อบกพร่องปรากฏอยู่อย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะทั้งในด้านของเนื้อหาสาระของกฎหมายและกระบวนการในการดำเนินคดีดังกล่าวนี้

 

ส่วนด้านของเนื้อหา จะพบว่าในแง่ของการริเริ่มคดีที่เปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้สามารถที่จะริเริ่มคดีกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ  อันนำมาซึ่งการกล่าวโทษกันอย่างง่ายดายและกว้างขวาง บทลงโทษของการกระทำความผิดฐานนี้ซึ่งเป็นการแสดงออกประเภทหนึ่งแต่มีโทษจำคุกรุนแรงถึง 15ปี

 

สำหรับด้านของกระบวนการ จะพบว่านับตั้งแต่ขั้นตอนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ บุคคลที่ตกเป็นผู้ต้องหาจะพบกับความยุ่งยากในการประกันตัว และชั้นพิจารณาคดีก็จะต้องเผชิญกับความยุ่งยากในลักษณะเดียวกัน ทั้งนี้เหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่มักถูกให้เหตุผลก็คือเป็นคดีที่มีโทษรุนแรงหรือเป็นคดีที่กระทบต่อสถาบัน และด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้จึงมักจะทำให้การวินิจฉัยคดีอยู่ภายใต้แรงกดดันหรือความเชื่อซึ่งอาจนำไปสู่การวินิจฉัยที่ละเลยหรือตีความที่ละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย

 

ด้วยปัญหาที่กล่าวมาจึงทำให้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไม่ใช่เพียงเครื่องมือใส่ร้ายป้ายสีระหว่างฝักฝ่ายต่างๆ ในทางการเมืองเท่านั้น หากยังขยายรวมออกไปถึงประชาชนอีกเป็นจำนวนไม่น้อยที่ต้องได้รับโทษจากกฎหมายนี้อย่างไม่เป็นธรรม กรณีคำวินิจฉัยใน “คดีอากง” เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความรุนแรงของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่กระทำต่อประชาชนได้อย่างง่ายดาย ทำให้เกิดการใช้กฎหมายนี้อย่างฟุ่มเฟือยโดยมีวาระทางการเมืองแอบแฝง และหากเปรียบเทียบกับการลงโทษที่เกิดขึ้นในหลายคดีที่แม้เป็นการฆาตกรรมต่อชีวิตของบุคคลอื่นก็ยังไม่ได้รับโทษเทียบเท่ากับกรณีนี้ ย่อมสะท้อนให้เห็นบทลงโทษที่รุนแรงและไม่สอดคล้องกับการกระทำที่ได้บังเกิดขึ้น

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนมีความเห็นว่าหากไม่ต้องการที่จะเปิดโอกาสให้การใช้กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือในการทำร้ายผู้คนดังเช่นที่ได้เกิดขึ้นมา จำเป็นที่จะต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดการแก้ไขกฎหมายมาตรา 112ของประมวลกฎหมายอาญา ทั้งนี้ไม่ใช่เพียงการป้องกันผู้บริสุทธิ์จากการรังแกของกฎหมายเพียงอย่างเดียว หากจะเป็นการปกป้องเสรีภาพในการแสดงความเห็นในสังคมประชาธิปไตยให้มีความเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้น

 

 

Source : มหาวิทยาเที่ยงคืน/ rayong-law.com(Image)

 

Produced by VoiceTV