การสอบเข้ามหาวิทยาลัยมีการแข่งขันสูงขึ้น ทำให้ผู้ปกครองต้องตัดสินใจส่งบุตรหลานเรียนในสถาบันกวดวิชา โดยผู้ปกครองบางคนยอมจ่ายเงินปีละกว่า 1 แสนบาทให้กับสถาบันกวดวิชา เนื่องจากไม่มั่นใจมาตรฐานการศึกษาในระบบ
แม้ว่าต้องใช้ เวลาตลอดทั้งวันเสาร์-อาทิตย์ และช่วงเย็นของวันจันทร์ถึงศุกร์ รวมประมาณ 32 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ นั่งรอลูกสาวเรียนกวดวิชา แต่นางวีนา สุรพงศ์ไพรัช แม่ของเด็กหญิงสลิลดา สุรพงศ์ไพรัช นักเรียนโรงเรียนสาธิตปทุมวัน บอกว่า เธอยินดีและเต็มใจที่จะทุ่มเทเวลาให้กับการเรียนของลูกสาว เพราะช่วยให้ลูกสาวเข้าใจบทเรียนมากขึ้น ก่อนสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัย
นาง วีนา เปิดเผยว่า ปัจจุบันต้องเสียค่าเรียนกวดวิชาให้กับลูกสาวปีละกว่า 1 แสนบาท เนื่องจากเนื้อหาการสอนในห้องเรียนไม่เข้มข้นพอ สวนทางกับข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่มีความยากกว่าเนื้อหาในชั้นเรียน ทำให้ นักเรียนต้องเรียนกวดวิชา และผู้ปกครองต้องรับภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้น โดยค่าเล่าเรียนในสถาบันกวดวิชาจะเริ่มต้นที่ 3 พันบาทจนถึงหลักหมื่น ขึ้นอยู่กับระดับชั้น รูปแบบการเรียนการสอน และอาจารย์ผู้สอน หากจะเป็นอาจารย์กวดวิชาที่มีชื่อเสียง ค่าเรียนจะสูงขึ้น
นางวีนา แสดงความเห็นว่า อยากให้กระทรวงศึกษาธิการเร่งควบคุมการสอนของทุกโรงเรียนให้มีมาตรฐานเดียว กัน โดยเร่งปรับปรุงเนื้อหา หลักสูตร และอุปกรณ์การเรียนการสอนให้มีความทันสมัย และให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง
จาก ข้อมูลของฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารกรุงไทย พบว่า ในปี 2551 มูลค่าตลาดของธุรกิจสถาบันกวดวิชามีมูลค่าประมาณ 5,900 ล้านบาท ปี 2552 ประมาณ 6,900 ล้านบาท / ปี 2553 เพิ่มขึ้นเป็น 7,400 ล้านบาท โดยปัจจัยที่ส่งผลให้ธุรกิจนี้เติบโตอย่างสม่ำเสมอ และและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นมาจากการเปลี่ยนระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัย อัตราการแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยมีมากขึ้น ค่านิยมของผู้ปกครองและนักเรียน ค่านิยมของตลาดแรงงานที่ให้ความสำคัญกับชื่อเสียงของสถาบันการศึกษา และมาตรฐานการเรียนการสอนของแต่ละโรงเรียนที่มีความแตกต่างกัน
Produced by Voice TV |