วันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2554

อภิสิทธิ์ ลั่น นพดลไร้สิทธิ์ตำหนิรัฐบาล

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เขียนบันทึกจากใจอภิสิทธิ์ถึงคนไทยทั้งประเทศ 8 บนเฟซบุ๊ค ตอน 3 กรกฏา กับปัญหาไทย-กัมพูชา ระบุว่า

 

นายนพดล ปัทมะ อดีตรมว.ต่างประเทศ เผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว Noppadon Pattama ในหัวข้อ "สุวิทย์ ทำอะไรลงไปที่ปารีส" ว่า "เมื่อปีที่แล้ว 2553 สุวิทย์ (สุวิทย์ คุณกิตติ หัวหน้าทีมเจรจามรดกโลก) คุยนักคุยหนาว่า เลื่อนวาระแผนบริหารและจัดการปราสาทพระวิหาร มาปี 2554 ผมพูดในตอนนั้นว่า อยากให้รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ อยู่ถึงการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกในปีนี้ และเป็นไปตามคาด คุณสุวิทย์ไม่สามารถเลื่อนวาระการพิจารณาแผนบริหารพื้นที่รอบปราสาทออกไปได้อีก เพราะรัฐบาลนี้ไม่สามารถลอบบี้ประเทศอื่นที่เป็นกรรมการมรดกโลกให้ช่วยประเทศไทยได้ เพราะคุณมีเพื่อนน้อยในเวทีโลก การลาออกจากภาคีมรดกโลกจะสร้างความเสียหายให้ประเทศไทยอย่างมาก เพราะเราจะไม่สามารถนำโบราณสถาน และอุทยานแห่งชาติไปขึ้นทะเบียนมรดกโลกได้ การลาออกเป็นการปิ้งปลาประชดแมว นอกจากนั้น เรายังสามารถปกป้องสิทธิในเขตแดนโดยวิธีอื่นๆได้ มากกว่าการลาออกจากภาคีมรดกโลก "
 
นายนพดลไม่มีสิทธิ์ที่จะมาตำหนิรัฐบาลของผมเพราะเขาเป็นผู้สร้างความเสี่ยงให้ไทยต้องอยู่ในภาวะอันตรายต่ออธิปไตยของชาติ เนื่องจากเป็นผู้ไปลงนามสนับสนุนให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่เเพียงฝ่ายเดียวในปี 2551
 
สิ่งที่เขาควรทำคือการนั่งนิ่ง ๆ แล้วถามตัวเองว่าพวกเขาได้ทำอะไรลงไปกับประเทศชาติจนทำให้ผมต้องต่อสู้เพื่อรักษาสิทธิและอธิปไตยของไทยที่นายนพดลกับพวกเกือบจะยกใส่พานให้กัมพูชาไปแล้ว หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลเสียก่อน
 
กว่าสองปีที่ผ่านมาผมเดินหน้าคัดค้านการนำเสนอแผนบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทพระะวิหารของกัมพูชาฝ่ายเดียว
และผมมีจุดยืนในการรักษาดินแดนไม่เคยเปลี่ยนแปลง และยืนยันว่ารัฐบาลทำสำเร็จในการคัดค้านดังกล่าว
 
จนกระทั่งถึงขณะนี้สถานะของการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชาก็ยังไม่สมบูรณ์ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่เราวางไว้
 
การต่อสู้เพื่อปกป้องอธิปไตยยังมีเส้นทางอีกยาวไกลครับ และผมไม่เห็นแก่ประโยชน์จากการขึ้นทะเบียนมรดกโลกโบราณสถานมากไปกว่าการต้องเสียดินแดนให้กัมพูชา เพราะมันเทียบกันไม่ได้เลย ซึ่งผมจะสู้จนถึงที่สุดบนแนวทางที่จะเป็นประโยชน์สูงสุดกับประเทศในฐานะนักการเมืองที่มีความรับผิดชอบต่อประเทศ ไม่ใช่ในฐานะทาสรับใช้ของคนที่เคยเป็นอดีตที่ปรึกษาสมเด็จฮุนเซน นายกฯกัมพูชา
 
บอกตรง ๆ ว่า ผมรู้สึกละอายใจแทนคุณนพดล ที่จนถึงวันนี้ยังไม่ได้สำนึกเลยว่า ต้นตอปัญหาที่รัฐบาลคุณสร้างขึ้นกำลังส่งผลร้ายแรง คุกคามชีวิตพี่น้องประชาชนตามแนวชายแดนอย่างที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นเลย
 
ผมลำดับเหตุการณ์สั้น ๆ ให้ประชาชนได้เข้าใจในเรื่องนี้ว่า
 
- รัฐบาล สมัคร สุนทรเวช โดย นพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ ในขณะนั้น ออกแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2551 มีเนื้อหาสนับสนุนให้กัมพูชา ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียว และยอมรับแผนที่ 1 ต่อ 200,000 หรือแผนที่ฝรั่งเศส ให้ใช้เป็นแผนการพัฒนาบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์รอบปราสาทพระวิหาร
 
- พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายไม่ไว้วางใจ สมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีรายบุคคลอีก 7 ราย รวมนายนพดล ปัทมะ ประเด็นหลักคือ การออกแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ขัด รธน. มาตรา 190 และสุ่มเสี่ยงต่อการทำให้ไทยเสียดินแดน 4.6 ตารางกิโลเมตร
 
- วันที่ 28 มิถุนายน 2551 ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวห้าม ครม. (ยุคสมัคร) กล่าวอ้างหรือใช้ประโยชน์จากมติ ครม.วันที่ 17 มิถุนายน 2551 ที่เห็นชอบแถลงการณ์ร่วมรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาเกี่ยวกับการจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกจนกว่าคดีจะถึงที่สุด และจะมีคำพิพากษาเป็นอย่างอื่น
 
ต่อมาวันที่ 30 ธ.ค. 2552 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งเพิกถอน มติ ครม. 17 มิ.ย. 2551 ที่เห็นชอบแถลงการณ์ร่วมไทย – กัมพูชา 
 
- คณะกรรมการมรดกโลกมีมติในวันที่ 8 กรกฎาคม 2551 รับรองการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร เป็นมรดกโลกของกัมพูชา   
 
- ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 8 ต่อ 1 ชี้ขาดว่า แถลงการณ์ร่วมไทย – กัมพูชา ที่สนับสนุนกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก เข้าข่ายเป็นสนธิสัญญาหรือหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 ในรัฐธรรมนูญปี 2550 การลงนามในแถลงการณ์ดังกล่าวโดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 190 แต่ก็มิอาจยับยั้งการใช้แถลงการณ์ดังกล่าวเป็นใบเบิกทางให้กัมพูชา ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารแต่เพียงฝ่ายเดียวได้ เพราะคณะกรรมการมรดกโลก ได้มีมติขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียวในวันที่ 8 ก.ค. 2551 เช่นเดียวกัน
  - วันที่ 29 ก.ย. 2552 ป.ป.ช. มีมติ 6 ต่อ 3 ชี้มูลความผิด สมัคร – นพดล ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบกรณีออกมติครม.สนับสนุนการลงนามในแถลงการณ์ร่วมสนับสนุนการขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชา มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 โดยส่งเรื่องให้กับอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และส่งเรื่องต่อวุฒิสภาเพื่อให้ดำเนินการถอดถอนบุคคลทั้ง 2 ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 270
 
แม้วุฒิสภาจะมีมติไม่ถอดถอนนายนพดล แต่คดีอาญาที่ทำให้ชาติบ้านเมืองเสี่ยงต่อการสูญเสียอธิปไตยยังอยู่ระหว่างการไต่สวนของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
 
 ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลช่วงปลายปี 2551 รัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของผมมีจุดยืนรักษาอธิปไตยพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร มีมติครม. 16 มิถุนายน 2552 คัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก เพราะการดำเนินการของคณะกรรมการมรดกโลกไม่สมบูรณ์และไม่ถูกต้องตามมาตรา 11(3) ของอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกและข้อบัญญัติ 103, 104, 108 ของ Operational Guidelines for the Implementation of the World Heritage Convention โดยได้โต้แย้งการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชา ไปยังคณะกรรมการมรดกโลก ด้วยเหตุผลที่มีน้ำหนัก คือ มติให้ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ละเลยเงื่อนไขของบูรณภาพที่สำคัญยิ่งต่อการดำรงไว้ซึ่งคุณลักษณะของมรดกโลก ทั้งที่ตระหนักเป็นอย่างดีถึงข้อขัดแย้งเกี่ยวกับปราสาทพระวิหารและบริเวณโดยรอบระหว่าง ไทย – กัมพูชา เป็นการตัดสินใจที่ไม่ช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ฉันท์มิตรระหว่างชาติ และยังไม่เอื้อต่อการสร้างสรรค์ให้เกิดสิทธิและเสรีภาพอย่างเต็มที่ ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
 
อีกทั้งปรากฏชัดเจนในเวลาต่อมาว่าการตัดสินใจดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างสองประเทศจนนำไปสู่ความสูญเสียแล้ว  ประกอบกับกัมพูชาเองก็ยังไม่สามารถพัฒนาพื้นที่โดยรอบตามมติคณะกรรมการมรดกโลกได้ เนื่องจากรัฐบาลไทยไม่ให้ความร่วมมือ จนทำให้คณะกรรมการมรดกโลกขยายเวลาการพิจารณาแผนบริหารจัดการพื้นที่ปราสาทพระวิหารของกัมพุชาออกไป 1 ปี กำหนดพิจารณาอีกครั้งเดือนกรกฎาคม 2553
 
วันที่ 13 ก.ค. 2553 ครม.มีมติอนุมัติงบประมาณ 10 ล้านบาทให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นำทีมโดยสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยคณะ 15 คน เดินทางเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 34 ตามที่ ทส.เสนอ ที่ประเทศบราซิล ระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคม ถึงวันที่ 3 สิงหาคม 2553
 
วันที่ 28 ก.ค. 2553 ครม.มีมติสนับสนุนการทำงานของ สุวิทย์ และมอบอำนาจให้ตัดสินใจในการวอล์คเอาท์จากที่ประชุมกรรมการมรดกโลก หากมีการดึงดันรับรองแผนบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารของกัมพูชา และให้ออกแถลงการณ์ชี้แจงข้อทักท้วงของไทยอย่างชัดแจ้ง รวมทั้งทบทวนการเป็นภาคีอนุสัญญามรดกโลก
 
วันเดียวกัน ผมได้ประกาศจุดยืนรักษาอธิปไตยของชาติ รักษาสิทธิเหนือดินแดนไทย ไม่ให้ความร่วมมือในการบริหารจัดการพื้นที่ที่กระทบต่อดินแดนไทย และยืนยันความพร้อมของกองทัพไทยในการปกป้องอธิปไตยของชาติ
 
วันที่ 29 ก.ค. 2553 คณะกรรมการมรดกโลกรับฟังข้อทักท้วงของรัฐบาลไทยมีมติเลื่อนการพิจารณาแผนการบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารของกัมพูชาออกไปตัดสินในการประชุมปีนี้
 
จากนั้นรัฐบาลได้เดินสายทำความเข้าใจกับคณะกรรมการมรดกโลกถึงจุดยืนของประเทศไทยในการคัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียวของกัมพูชา เนื่องจากการบริหารจัดการพื้นที่รอบตัวปราสาทจะส่งผลกระทบต่ออธิปไตยเหนือดินแดนไทยโดยมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด
 
เมื่อมีการปะทะกันระหว่างไทย-กัมพูชา เป็นเหตุให้ยูเนสโก้ส่งผู้แทนพิเศษมาเจรจากับไทยและกัมพูชา ได้ข้อสรุปว่าจะเลื่อนการพิจารณาแผนบริหารจัดการรอบปราสาทพระวิหารของกัมพูชาออกไปจนกว่าจะได้ข้อสรุปในเรื่องเขตแดนตามกรอบเจบีซีที่กัมพูชาเองก็ยอมรับกับคณะกรรมการมรดกโลกว่า แผนดังกล่าวจะดำเนินการได้ก็ต่อเมื่อสองฝ่ายได้ข้อสรุปในเรื่องเขตแดนแล้ว
 
กัมพูชาพยายามคัดค้านข้อมติของ ผอ.ยูเนสโก้ ส่งร่างของตัวเองที่ฝ่ายไทยยอมรับไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลก ซึ่งรัฐมนตรีสุวิทย์และคณะได้ต่อสู้คัดค้านการพิจารณาร่างดังกล่าว และมิตรประเทศของไทยในคณะกรรมการมรดกโลกหลายประเทศ เช่น สวิตเซอร์แลนด์ บราซิล ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย และอียิปต์ พยายามช่วยหาทางออกให้ แต่ประธานในที่ประชุมยืนยันที่จะให้พิจารณาร่างข้อมติทั้ง 2 ร่างซึ่งรัฐมนตรีสุวิทย์เห็นว่ามีความสุ่มเสี่ยงต่อการที่จะกระทบต่ออธิปไตยของไทย จึงได้ตัดสินใจแสดงเจตนาถอนตัวตามแนวทางที่รัฐบาลได้กำหนดไว้ อย่างไรก็ดีหลังจากที่ไทยแสดงเจตนาถอนตัว คณะกรรมการก็ไม่ได้เห็นชอบกับร่างของกัมพูชา  เท่ากับว่ายังไม่มีการพิจารณาแผนบริหารพื้นที่ดังกล่าว การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชายังไม่สมบูรณ์ตามเป้าประสงค์ของกัมพูชา
 
แต่อาจจะสำเร็จทันทีที่พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลก็ได้ เพราะจุดยืนของพรรคเพื่อไทยชัดเจนว่าสนับสนุนการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของกัมพูชามาโดยตลอด และนี่คือความแตกต่างระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทย
 
หากพิจารณาจากจุดยืนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตที่ปรึกษานายกฯฮนเซน ที่เป็นคนคิดให้พรรคเพื่อไทยทำ เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศว่า "ไทยรุกรานประเทศเพื่อนบ้าน" ประกอบกับวิธีคิดของแกนนำเพื่อไทยอย่างนางฐิติมา ฉายแสง ที่อภิปรายกลางสภาว่า "พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรเป็นของกัมพูชามาตั้งนานแล้ว" ก็จะยิ่งตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าควรเลือกใครรระหว่างพรรคเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์เพื่อมาดูแลบูรณภาพเหนือดินแดนไทย
 
กล่าวมานี้เพื่อให้เห็นว่าต้นตอของปัญหาที่ทำให้ไทย -  กัมพูชาต้องขัดแย้งกันอยู่ในวันนี้ จนสร้างความตึงเครียดไปตลอดแนวชายแดน ทำให้ชาวบ้านหลับตาไม่สนิท ต้องใช้ชีวิตอย่างหวาดผวาเกรงว่าจะเกิดการปะทะกันอยู่ที่ใด
 
พรรคการเมืองไหนครับที่พาประชาชนไปสู่ความทุกข์เหล่านั้น พรรคเพื่อไทยควรตอบคำถามนี้ให้ได้ ก่อนที่จะอ้าปากอาสาเข้ามาแก้ปัญหานี้
 
สำหรับผมยังยืนยันว่าการแก้ปัญหาต้องใช้ทั้งการเจรจา กลยุทธ์การเมืองระหว่างประเทศ และความเข้มแข็งของกองทัพไทยในการเป็นรั้วของชาติไม่ให้ใครมารุกรานเรา ขณะเดียวกันเราไม่เคยคิดรุกรานใครแต่พร้อมเต็มที่ในการรักษาอธิปไตยของชาติเอาไว้ โดยไม่เกรงกลัวใครหน้าไหนทั้งนั้น ที่สำคัญผมไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือความสัมพันธ์พิเศษใด ๆ กับผู้นำกัมพูชาที่ต้องไปยกดินแดนไทยให้กัมพูชาเพื่อแลกกับความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสองประเทศ หรือ การนำผลประโยชน์ชาติไปแปรสภาพเป็นผลประโยชน์ส่วนตัว
 
 การถอนตัวจากภาคีมรดกโลกยังมีอีกหลายขั้นตอน และกว่าจะเป็นผลก็ใช้เวลา 12 เดือน ระหว่างนี้ไม่มีส่วนใดที่กระทบต่อสถานที่ต่าง ๆ ของไทยที่ได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลกไปแล้ว ที่สำคัญคือช่วงระยะเวลานี้ยังเป็นโอกาสที่เราจะสะสางปัญหานี้ต่อ  หากผมได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ก็จะมุ่งการเจรจาเป็นหลักแต่ก็ไม่หวั่นเกรงหากถึงจุดที่จำเป็นต้องใช้กำลังทหารปกป้องอธิปไตยของชาติ
 
ส่วนใครทำให้ชาติเข้าสู่ความเสี่ยงทางอธิปไตยอย่างไร้ความละอายนั้น คนไทยทั้งประเทศคงจะได้ไปแสดงฉันทามติในวันที่ 3 กรกฎาคมนี้ว่า "ไม่เอาพรรคการเมืองที่ยกดินแดนให้เขมรแต่จะเลือกพรรคการเมืองที่ปกป้องอธิปไตย"
 
เป้าหมายที่สำคัญคือ ทำอย่างไรให้คนชายแดนทั้งสองฝั่งได้กลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติเหมือนกับที่เคยเป็น ก่อนเกิดปัญหาเรื่องมรดกโลก
 
ไม่ง่ายหรอกครับ ผมรู้ดี แต่ผมให้คำมั่นกับพี่น้องได้ว่าจะทำอย่างเต็มกำลัง สุดความสามารถ ด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง โดยยึดประโยชน์ของชาติเหนือสิ่งอื่นใด และไม่หวั่นไหวต่อแรงกดดันภายในประเทศ ซึ่งผมได้พิสูจน์ให้เห็นมาแล้วตลอดสองปีกว่าที่ผ่านมา
 
ผมหวังว่าจะได้ทำหน้าที่สะสางปัญหานี้ให้จบ นำชาติหลุดพ้นจากความเสี่ยงในการสูญเสียอธิปไตย แต่ผมจะมีโอกาสได้ทำหรือไม่ขึ้นอยู่กับการชี้ขาดของประชาชนในวันที่ 3 กรกฎาคมนี้
 
คนไทยต้องเลือกระหว่างพรรคประชาธิปัตย์ที่เดินหน้ารักษาอธิปไตยหรือพรรคเพื่อไทยที่ภูมิใจในความแนบแน่นกับฮุนเซน
 
ท้ายสุดนี้ ผมขอขอบคุณรัฐมนตรีสุวิทย์
ที่ทํางานอย่างเข้มแข็งมาโดยตลอด