วันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เด็กเรียนกวดวิชาเพิ่มขึ้น หลังคะแนนโอเน็ตน้อย

ผลสอบโอเน็ตปีการศึกษา 2553 พบว่า เด็กไทยส่วนใหญ่มีคะแนนไม่ถึงร้อยละ 50 ทำให้นักเรียนนิยมเรียนกวดวิชาเพิ่มมากขึ้น ด้านอาจารย์สถาบันกวดวิชา แสดงความเห็นว่า นักเรียนทุกคนไม่จำเป็นต้องเรียนกวดวิชา หากเข้าใจเนื้อหาในห้องเรียน

 

การเรียนในสถาบันกวดวิชาเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไป และกำลังได้รับความนิยมมากขึ้น  หลังจากสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน ประกาศผลสอบโอเน็ตประจำปีการศึกษา 2553 พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่มีคะแนนไม่ถึงร้อยละ 50  และยังมีคะแนนเฉลี่ยลดลงกว่าปีที่ผ่านมา  โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์  และภาษาอังกฤษ ที่ทำคะแนนได้ไม่ถึงร้อยละ 20  ส่วนวิชาภาษาไทย สังคมศึกษา และวิทยาศาสตร์ ทำคะแนนไม่ถึงร้อยละ 50 ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่าการศึกษาไทยตกต่ำอย่างหนัก


นายชัยรัตน์ เจษฏารัตติกร หรือ อาจารย์เจี๋ย เจ้าของสถาบันกวดวิชาเจี๋ย และเป็นอาจารย์สอนวิชาคณิตศาสตร์ เปิดเผยว่า สาเหตุที่นักเรียนส่วนใหญ่สอบได้คะแนนน้อย เนื่องจากปัญหาพื้นฐานของเยาวชนไทย  ที่ไม่ชอบเรียนวิชาคณิตศาสตร์ เพราะมองว่ายากและไม่จำเป็น ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด จึงเป็นหน้าที่ของผู้สอนที่ต้องออกแบบการสอนให้สนุก  ท้าทาย  และทำให้นักเรียนเห็นประโยชน์ของวิชาที่เรียน
 
อาจารย์เจี๋ย  ยืนยันว่า นักเรียนไทยทุกคนไม่จำเป็นต้องเรียนกวดวิชา  หากมีความขยัน  และอาจารย์สอนเนื้อหาเข้มข้นมากพอแล้ว  แต่สำหรับผู้ที่มาเรียนกวดวิชาส่วนใหญ่ต้องการเทคนิคที่ช่วยให้พวกเขาเข้าใจได้ง่าย  และเนื้อหาที่เจาะลึกมากขึ้น

ด้านนางสาวนุตประวีณ์ จังศิริวัฒนธำรง อายุ 17 ปี  นิสิตชั้นปีที่  1  คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่สามารถสอบโอเน็ตวิชาคณิตศาสตร์ได้  100  คะแนนเต็ม บอกว่า ข้อสอบโอเน็ตง่ายกว่าการสอบ PAT 1 หรือความถนัดทางคณิตศาสตร์
 

อาจารย์เจี๋ย แสดงความเห็นว่า ผลการสอบโอเน็ตยังเป็นตัวชี้วัดมาตรฐานการศึกษาของแต่ละโรงเรียน ซึ่งสถาบันการศึกษาแต่ละแห่งควรนำผลการสอบที่ได้ไปปรับแนวการสอนของแต่ละโรงเรียน การสอบโอเน็ตมีมานานหลายปี แต่สถานศึกษาแต่ละแห่งยังมีรูปแบบการสอนแบบเดิม ที่เป็นการท่องจำและไม่มีการสอนเพื่อให้วิเคราะห์การทำข้อสอบ นักเรียนเกือบ 5 แสนคนต่อปีจึงนิยมเรียนกวดวิชา

จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน พบว่าปีนี้มีโรงเรียนกวดวิชากว่า  1,600  แห่ง เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วประมาณ 100 แห่ง โดยในกรุงเทพมีโรงเรียนประมาณ  400  แห่ง  และต่างจังหวัดอีกกว่า  1,200  แห่ง  และน่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
 

Produced by VoiceTV