หลังจากที่พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง หนึ่งในนโยบายที่มีการวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด คือการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทโดยภาคแรงงานต่างสนับสนุนให้มีการปรับขึ้นค่าแรงตามสภาพเศรษฐกิจพร้อมเสนอแนวทางต่างๆให้รัฐบาลช่วยเหลือ
แต่รัฐบาลจะต้องให้มีการตั้งสหภาพแรงงานเพื่อให้กลุ่มแรงงานมีชีวิตที่มั่งคงขึ้นรวมทั้งรัฐต้องจัดสวัสดิการทั้งการเรียนฟรีและรักษาฟรีรวมถึงการควบคุมราคาสินค้าจำเป็นสำหรับลูกจ้าง อาทิการช่วยเหลือเรื่องค่าน้ำ-ค่าไฟ ค่าอาหาร ค่าเดินทางในการทำงานเนื่องจากค่าแรงที่ได้ในปัจจุบันไม่สัมพันธ์กับค่าครองชีพจนทำให้แรงงานต้องเป็นหนี้
เช่นเดียวกับนายเทวฤทธิ์ มณีฉาย ตัวแทนจากกลุ่มประกายไฟ มองว่าการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทเป็นสิ่งที่ควรทำและแม้ค่าแรงเฉลี่ยของไทยจะสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวกับกัมพูชาแต่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาที่ใกล้เคียงกันอย่างมาเลเซียที่มีค่าแรงเฉลี่ยต่อเดือน 11,400 บาท ไทยมีค่าแรงเฉลี่ยเพียง 6,070 บาทเท่านั้นและความเหลื่อมล้ำของค่าจ้างระหว่างผู้บริหารกับลูกจ้างก็มีความเหลื่อมล้ำกันสูงซึ่งที่ผ่านมาค่าแรงขั้นต่ำไม่เคยผันตามอัตราเงินเฟ้อและอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
ขณะที่นายจิรัฐสรรพ์ ประมวลศิลป์ นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลับเห็นว่าการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำเป็นการบิดเบือนกลไกทางการตลาดในทางเศรษฐศาสตร์ เนื่องจากค่าแรงต้องเป็นไปตามกลไกของตลาดที่เป็นอยู่และหากมีการเพิ่มค่าแรงจริง เงินจะเฟ้อและสินค้าจะราคาสูงขึ้นซึ่งท้ายที่สุดแล้วแรงงานจะไม่มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด
ดังนั้นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลเพื่อไทยต้องทำคือการพัฒนาศักยภาพของแรงงานการผลิต และในปัจจุบันหลายองค์กรก็ได้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำแล้วเนื่องจากเห็นว่าค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นอยู่ไม่สามารถจ้างงานได้จริงตามสภาพเศรษฐกิจอย่างไรก็ตามหากพรรคเพื่อไทยเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำควบคู่ไปกับการพัฒนาฝีมือแรงงานและการลดภาษีนิติบุคคลแล้วก็จะทำให้ผู้มีรายได้น้อยมีเงินเหลือมากยิ่งขึ้น
Produced by Voice TV |