วันพุธที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2554

สมศักดิ์โต้สมคิด 15 ข้อคำถามถึงนิติราษฎร์

สมศักดิ์โต้สมคิด 15 ข้อคำถามถึงนิติราษฎร์

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เขียนตอบโต้คำถาม 15 ข้อ ของอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลงเฟซบุ๊ก โดยระบุว่าควรให้ความสำคัญกับวิธีการมากกว่าเนื้อหา

 

นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขียนตอบโต้คำถาม 1 ใน 15 ข้อต่อคณะนิติราษฎร์ ของศาสตราจารย์สมคิด เลิศไพฑูรณ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ระบุว่า ถ้าตำรวจจับคนร้ายที่ทำผิดจริงมา แต่ไม่ได้สอบสวนโดยละเอียด ต่อมาคนร้ายถูกฟ้องศาล มีการโต้แย้งว่ากระบวนการของตำรวจไม่ค่อยถูกต้อง แต่ศาลเห็นว่าไม่เป็นไร ศาลก็พิพากษาไป ตกลงคำพิพากษาของศาลใช้ได้หรือไม่

 

อาจารย์สมศักดิ์ระบุผ่านทางเฟซบุ๊กว่า การเรียบเรียงคำถามของอาจารย์สมคิดไม่มีความรัดกุม เพราะอันที่จริงควรตั้งคำถามว่า หากคนร้ายผิดจริง แต่ในระหว่างการสอบสวน พนักงานตำรวจได้ใช้วิธีการที่ไม่ค่อยชอบมาพากลทางกฎหมาย และเมื่อคดีขึ้นศาล ศาลตัดสินว่าผิด คำตัดสินของศาลจะใช้ได้หรือไม่

 

ในกรณีนี้ อาจารย์สมศักดิ์มองว่า คำตัดสินของศาลต้องถือว่าใช้ไม่ได้ เนื่องจากสังคมควรให้ความสำคัญของวิธีการและกระบวนการในการให้ได้มาซึ่งผล มากกว่าเนื้อหาของการคำตัดสิน เพราะหากเรายอมรับวิธีการหรือกระบวนการที่ไม่ชอบมาพากลและผิดหลักการแล้ว ก็เท่ากับเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งจะส่งผลเสียกับผู้บริสุทธิ์ที่ต้องผ่านกระบวนเช่นนี้สักวัน ทั้งยังเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ที่ทำผิดจริงด้วย

 

กรณีเช่นนี้เคยมีตัวอย่างแล้วในประเทศสหรัฐฯ ในทศวรรษที่ 1960 นายโกเมซ มิแรนด้า ได้ทำการลักพาตัวหญิงสาวอายุ 18 ปีแล้วข่มขืน ซึ่งถือว่าได้กระทำผิดจริง แต่ในระหว่างชั้นสอบสวน นายมิแรนด้าไม่ได้รับการบอกเรื่องสิทธิในการเงียบและสิทธิในการมีทนาย ทำให้นายมิแรนด้าลงนามในคำรับสารภาพ ซึ่งส่งผลให้นายมิแรนด้าถูกศาลอริโซนาตัดสินให้จำคุกหลายสิบปี

 

ต่อมาทนายของฝ่ายจำเลยจึงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลสูงของสหรัฐฯ ซึ่งศาลสูงของสหรัฐฯ ก็ตัดสินให้คำตัดสินของศาลอริโซนาเป็นโมฆะ เพราะถือว่าได้กระทำผิด โดยไม่ได้บอกให้นายมิแรนด้ารู้อย่างชัดเจนก่อนว่า เขามีสิทธิจะเงียบและมีสิทธิจะมีทนายอยู่ด้วยระหว่างให้การเป็นการละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญสหรัฐ (ข้อแก้ไขที่ 5 และ 6)

 

ส่งผลให้คำตัดสินจำคุกหลายสิบปีถูกยกเลิก และตัวนายมิแรนด้าก็ถูกดำเนินคดีตั้งแต่ขั้นแรกใหม่ กรณีในครั้งนี้เป็นที่มาของสิทธิมิแรนด้าที่คนทั่วไปรู้จักกัน

 

ซึ่งอาจารย์สมศักดิ์สรุปปิดท้ายว่า เป็นเรื่องบรรทัดฐานสังคมโดยรวมว่าเราต้องการสังคมแบบไหน แบบที่ไม่คำนึงถึงวิธีการหรือกระบวนการ แค่ขอให้ผิดจริง หรือว่า เราต้องการสังคมที่เคารพในสิทธิของทุกคน แม้แต่คนที่เรามั่นใจว่าผิดจริง

 

produced by VoiceTV