วันพุธที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2554

"บรรหาร"ขุด"เจ้าพระยา2" ยาว100ก.ม.แก้น้ำท่วมยั่งยืน

"บรรหาร"ขุด"เจ้าพระยา2" ยาว100ก.ม.แก้น้ำท่วมยั่งยืน

กรมชลฯลุยแก้น้ำท่วมถาวร เร่งสร้างคลองระบายน้ำใหม่ 4 โครงการยักษ์ งบฯหมื่นล้านบาท "บรรหาร ศิลปอาชา" ลงทุนข้ามกระทรวง "คมนาคม-เกษตรฯ"

 

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2554 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแนวพระราชดำริแก้ปัญหาน้ำท่วม โดยกรมชลฯจะจัดทำแผนพัฒนาคลองระบายน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งมีอยู่ 4 โครงการ

 

"แผนงานทั้งหมดจะแก้ปัญหา น้ำท่วมได้อย่างถาวรในพื้นที่ตั้งแต่ภาคกลางตอนล่างลงมา ได้แก่จังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และ กทม. ครอบคลุมพื้นที่ฝั่งตะวันออกและตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งนำเสนอรัฐบาลแล้ว จะเริ่มในปี 2555"

 

ดร.สมเกียรติกล่าวว่า โครงการที่ 1 พื้นที่ฝั่งตะวันออกมีโครงการจะขยายก้นคลองชัยนาท-ป่าสัก ซึ่งเป็นคลองเดิมที่มีอยู่แล้วให้มีขนาดกว้างขึ้น พร้อมขุดคลองแนวใหม่ขยายเส้นทางต่อจาก ป่าสักเชื่อมกับคลองระพีพัฒน์ ต่อเนื่องมาถึงคลองชายทะเลแล้วลงสู่อ่าวไทย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพคลองเดิมที่ทำหน้าที่เป็นคลองส่งน้ำให้ระบายน้ำได้มากขึ้น จากเดิม 200 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เป้าหมายเพิ่มเป็น 700 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ลงทุน 10,000 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี โดยจะขอจัดสรรงบประมาณปี 2555 หากได้รับอนุมัติจะดำเนินการทันที พร้อมออกแบบและก่อสร้างไปด้วย

 

โครงการที่ 2 ขุดคลองบางไทร-อ่าวไทย หรือเจ้าพระยา 2 ที่กรมเคยมี แนวเส้นทางเดิมไว้แล้ว ส่วนนี้คาดว่าจะร่วมกับกรมทางหลวง สังกัดกระทรวงคมนาคม ที่มีโมเดลจะสร้างถนนวงแหวนรอบที่ 3 พร้อมคลองผันน้ำ ซึ่งอาจจะต้องศึกษาร่วมกัน ระหว่างช่องทางระบายน้ำกับถนนตัดใหม่

 

ดร.สมเกียรติกล่าวต่อว่า โครงการที่ 3 พื้นที่ฝั่งตะวันตก มีแนวคิดจะก่อสร้างคลองแนวใหม่ พร้อมพื้นที่รับน้ำ (ฟลัดเวย์) ซึ่งเป็นทั้งคลองระบายน้ำและกันพื้นที่บางส่วนสำหรับทำเกษตรกรรม แนวเส้นทางจะขนานกับคลองมะขามเฒ่าอู่ทอง โดยจะช่วยระบายน้ำจากจังหวัดชัยนาทแล้วอ้อมมาตามคลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง สุพรรณบุรี เลาะลงมาจนถึงอ่าวไทย ระยะทางกว่า 200 ก.ม.

 

"โครงการที่ 4 คือขุดคลองลัดระบายน้ำเพิ่มอีก 1 แห่ง จากแม่น้ำสุพรรณบุรีถึงแม่น้ำท่าจีน เพราะแม่น้ำท่าจีนมีสภาพพื้นที่คดเคี้ยวมาก จึงต้องขุดคลองใหม่มาเสริม เหมือนกับโครงการคลองลัดโพธิ์ ที่ช่วยระบายน้ำได้เร็วขึ้นจากด้านเหนือลงสู่อ่าวไทย จะเริ่มโครงการในปีหน้าเช่นกัน"

 

source : prachachat/contechdevelopment(image)