วันพุธที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

224 นักวิชาการทั่วโลก หนุนนิติราษฎร์

224 นักวิชาการทั่วโลก หนุนนิติราษฎร์

นักกวิชาการ 224 คนใน 16 ประเทศ ลงรายชื่อสนับสนุนข้อเสนอการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของคณะนิติราษฎร์ พร้อมส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ย้ำความจำเป็นในการแก้ไขกฎหมายมาตรานี้

 

นักวิชาการ 224 คน จาก 16 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย, ออสเตรีย, แคนาดา, เดนมาร์ก, เยอรมัน, ฮ่องกง, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, เนเธอร์แลนด์, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, สเปน, สวีเดน, ตรินิแด็ดและโตเบโก, อังกฤษ, และสหรัฐอเมริกา ร่วมลงชื่อสนับสนุนข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ เรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 



พร้อมส่งจดหมายเปิดผนึก  ถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี   โดยแสดงความกังวล เรื่องการบังคับใช้กฎหมายมาตรา 112  ที่ริดรอนสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้ถูกกล่าวโทษ  โดยเห็นว่า กฎหมายมาตรานี้ กลายเป็นเครื่องมือ  ในการปิดปากคู่ขัดแย้งทางการเมือง


โดยจดหมายฉบับดังกล่าว ได้อ้างอิงถึงการบังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 ที่ผ่านมา ที่ผู้ต้องหาส่วนใหญ่ไม่ได้รับสิทธิในการเข้ารับการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผย เช่น คดีอากง ซึ่งตราบใดที่ยังมีคดีเช่นนี้เกิดขึ้นอยู่ในประเทศไทย เรื่องสิทธิมนุษยชนก็จะไร้ความหมาย



จึงเห็นว่า การปฏิรูปกฎหมาย  เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อคุ้มครองสิทธิพื้นฐานของประชาชนไทยและเสริมสร้างประชาธิปไตยและนิติรัฐในความหมายที่กว้างขวาง พร้อมย้ำว่า กฎหมายมาตรา 112 ควรเป็นกฎหมายที่มีผู้ฟ้องร้องเป็นสำนักราชเลขาธิการ ไม่ใช่บุคคลทั่วไป และ ไม่ควรมองว่า ผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายนี้ เป็นผู้ที่จ้องจะล้มล้างสถาบันกษัตริย์ นอกจากนี้ กฎหมาย 112 ควรใช้ในกรณีที่มีคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจริงๆ มากกว่าเหตุผลด้านความมั่นคงของชาติ



สำหรับผู้ลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้  มีนักวิชาการชื่อดังระดับโลก  เช่น ศาสตราจารย์เกียรติคุณ โนม ชอมสกี้   นักปรัชญา นักภาษาศาสตร์ นักรัฐศาสตร์ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองชื่อดังแห่งศตวรรษที่ 20-21 แห่งสถาบันเทคโนโลยี่แมสซาชูเส็ทส์ เอมิตาฟ โกช  นักคิด-นักเขียนชาวอินเดีย แทริค อาลิ นักเขียนชาวอังกฤษเชื้อสายปากีสถาน เป็นนักประวัติศาสตร์การทหาร นักเขียน สื่อมวลชน นายคริส เบเกอร์ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านไทยศึกษา



นอกจากนี้ ยังมีนักวิชาการชื่อดัง นอกวงการไทยศึกษาจำนวนมาก เช่น ศาสตราจารย์โรเบิร์ต เอบริตตัน  นักรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยมิสซิสซิปปี้ ศาสตราจารย์บาร์บารา วัตสัน อันดายา ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย

 

Produced by Voice TV