เมื่อเดือนที่ผ่านมา การพิจารณาร่างกฎหมายปราบปราบการละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ หรือ SOPA ของรัฐสภา สหรัฐฯ ทำให้เกิดกระแสต่อต้านอย่างมาก จนต้องยุติการพิจารณาไปชั่วคราว ล่าสุด ในยุโรปเกิดกระแสต่อต้านข้อตกลงระหว่างประเทศอีกฉบับหนึ่งที่ชื่อว่า ACTA ในสัปดาห์ที่ผ่าน ได้เกิดการเคลื่อนไหวประท้วงต่อต้านข้อตกลงระหว่างประเทศ ซึ่งมีเนื้อหาลักษณะเดียวกับร่างกฎหมายปราบปราบการละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ หรือ SOPA ของสหรัฐฯ โดยข้อตกลงฉบับนี้มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Anti-Counterfeiting Trade Agreement หรือ "ข้อตกลงทางการค้าว่าด้วยการต่อต้านการลอกเลียนแบบ" เรียกย่อๆ ว่า ACTA โดยกลุ่มผู้ประท้วงโจมตีว่า กระบวนการเจรจาข้อตกลง ACTA ไม่โปร่งใส เนื่องจากเป็นการเจรจาอย่างลับๆ และยังเป็นการจำกัดเสรีภาพในการใช้อินเทอร์เน็ต เพราะข้อตกลงฉบับนี้ระบุว่า จะต้องมีเซิร์ฟเวอร์อินเทอร์เน็ต สำหรับเฝ้าระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ทางอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับข้อตกลง ACTA ยังอ้างว่า กฎหมายปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ในลักษณะนี้เป็นการคุกคามชีวิตผู้คนในหลายประเทศ เมื่อกฎหมายมีการขยายขอบเขตของกฎหมายการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาไปยังด้านเกษตรกรรมและด้านเภสัชกรรม ในสัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยกับข้อตกลง ACTA จัดการชุมนุมประท้วงในหลายประเทศ เช่น โปแลนด์ ฝรั่งเศส และไอร์แลนด์ ทั้งนี้ ACTA เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศที่มุ่งปกป้องทรัพย์สินทางปัญหา ด้วยการกีดกันสินค้าปลอม และการละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ ซึ่งเริ่มการเจรจามาตั้งแต่ปี 2551 โดยมี สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แคนาดา เม็กซิโก โมรอกโก นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และสวิตเซอร์แลนเข้าร่วมเป็นภาคี ในขณะนี้ มีรัฐบาลลงนามในข้อตกลงดังกล่าวแล้ว ทั้งหมด 30 ประเทศ โดยนายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ลงนามในข้อตกลง ACTA ไปตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2554 ในฐานะข้อตกลงของฝ่ายบริหาร ซึ่งไม่จำเป็นต้องผ่านการพิจารณาจากสภาคองเกรส ส่วนสหภาพยุโรปและสมาชิกจำนวน 22 ประเทศเพิ่งจะลงนามในข้อตกลงดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา และรัฐสภายุโรปมีกำหนดการจะพิจารณาเพื่อให้สัตยาบันข้อตกลงฉบับนี้ในเดือนมิถุนายนนี้ Produced by VoiceTV |