โค้งสุดท้ายมหากาพย์บูรณาโกงรถดับเพลิง
ใกล้ถึงจุดชี้ชะตา คดีมหากาพย์ทุจริตจัดซื้อเรือและรถดับเพลิงของกทม. ยาวกว่า 7 ปี คนทุจริตมีทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน
คดีจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงฉาวของกทม.มูลค่ากว่า 6,800 ล้านบาท ที่ใช้เวลาอบสวนกว่า 7 ปี ขณะนี้อยู่ในชั้นศาล เริ่มไต่สวนในศาลฎีกาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดแรกไปเมื่อวันที่ 30 มกราคม ที่ผ่านมา และนัดไต่สวนต่อเนื่องไปอีกประมาณ 5 ครั้ง ก่อนที่จะพิจารณาตัดสิน
นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย "ผู้เปิดประเด็นทุจริตรถดับเพลิง" ตั้งแต่สมัยยังเป็นส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ***************************************************************************
คดีนี้ ย้อนไปเมื่อปี 2547 จากการนำข้อมูลออกมาเปิดเผยโดย นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย เมื่อครั้งยังเป็นส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ด้วยข้อมูลที่ระบุว่า นายสมัคร สุนทรเวช ในสมัยดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯกทม. ได้เซ็นลงนามซื้อขายเรือและรถดับเพลิงเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2547 ในขณะที่นายสมัครเป็นรักษาการผู้ว่าฯ
ต่อมา วันที่ 10 มกราคม 2548 นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าฯกทม. ตัดสินใจ เปิดแอลซี หรือเลตเตอร์ ออฟเครดิต ในที่สุด ทั้งที่ก่อนหน้านั้นกว่า 3 เดือน นายอภิรักษ์ยืนยันที่จะไม่สานต่อโครงการนี้ แต่ด้วยเหตุผลบางประการทำให้ปัญหาดังกล่าวลุกลามบานปลาย
สภาพโดยรอบของโรงจอดรถดับเพลิงบางส่วน ***************************************************************************
สำหรับการร้องเรียนเรื่องนี้ นายยุทธพงศ์ ได้ยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เมื่อเดือนตุลาคม 2548 ให้สืบสวนสอบสวน แต่ต้องสะดุดลงเนื่องจากการรัฐประหาร เรื่องจึงโยนไปให้คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน(คตส.) เป็นหนึ่งใน 11 คดีใหญ่ ที่คตส.ได้นำไปพิจารณา แต่กรรมการชุดของ นายนาม ยิ้มแย้ม พิจารณาเรื่องนี้นานกว่า 1 ปีครึ่ง คดียังไม่จบ
ต่อมา คณะกรรมการ ป.ป.ช.รับเรื่องนี้มาดำเนินงานต่อ โดยมี นายวิชา มหาคุณ เป็นประธานคณะอนุกรรมการในการไต่สวนเรื่องนี้ และคณะกรรม ป.ป.ช.มีมติเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2551 ชี้มูล มีถูกกล่าวหา ประกอบด้วย
1.นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าฯกทม. 2.นายสมัคร สุนทรเวช อดีตผู้ว่าฯกทม. 3.นายโภคิน พลกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย 4.นายประชา มาลีนนท์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย 5.นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ 6. พล.ต.ต.อธิรักษ์ ตันชูเกียรติ อดีตผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. และ 7.บริษัทสไตเออร์ฯ จากออสเตรีย
หลังจากนั้นคดีไปอยู่ในชั้นอัยการอยู่ประมาณ 2 ปี จนสุดท้าย ป.ป.ช.ตัดสินใจฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และศาลได้ประทับรับฟ้อง คดีนี้ถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ทางการเมืองเป็นคดีแรกที่ ป.ป.ช.ตั้งทนายฟ้องเอง กระทั่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้เริ่มไต่สวนในที่สุด
ร่องรอยระดับน้ำท่วมที่ยังทิ้งให้เห็น **************************************************************************************
อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบสภาพรถดับเพลิงบางส่วน ที่จอดอยู่ในโรงซ่อมใหญ่ ของ บริษัท เทพยนตร์ แอร์โร โมทิฟ อินดัสตรีส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผลิต-ประกอบ-ดัดแปลง-ซ่อมแซมเครื่องยนต์ทุกชนิด อยู่ที่เลขที่ 4/2 หมู่ 6 ซอย 6 ถนนบางกรวย-ไทรน้อย อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี โดยพบว่าร่องรอยน้ำท่วมยังคงหลงเหลือให้เห็นว่า ช่วงที่ผ่านมาระดับน้ำในย่านนี้ค่อนข้างสูง และท่วมไปกว่าครึ่งล้อของรถดับเพลิงมที่จอดสงบนิ่งอยู่อย่างยาวนาน
ยิ่งเพิ่มเติมความชำรุดให้มากขึ้นไปอีก หลังจากที่โครงการนี้มีการพบปัญหาเรื่องการจัดซื้อ
รถดับเพลิงขนาดเล็กที่ยังจอดทิ้งไว้ *********************************************************************
ขณะเดียวกันยังมีรถดับเพลิงอีกส่วนหนึ่งที่เป็นรถดับเพลิงขนาดเล็ก ที่พบว่าใช้รถปิกอัพยี่ห้อมิตซูบิชิ แปะเพลทในห้องเครื่องยนต์โชว์หราว่า “MADE IN THAILAND” จอดแช่อยู่ในลานพักสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ในนิคมแหลมฉบัง
ลำพังค่าทางกรุงเทพมหานคร ที่ยังต้องเสียค่าระวางจอดรถกับทางบริษัทที่ให้เช้าพื้นที่จอดรถ อีกวันละ 250,000 บาท หากถึง เดือน ก.พ. 55 ครบกำหนด 4 ปี จะต้องเสียงบประมาณรัฐให้บริษัทถึง 201 ล้าน บาท ซึ่งขณะนี้ทางบริษัทได้นำเรื่องฟ้องร้องเรียกต่อศาลแล้วแต่คดียังไม่ สิ้นสุด จึงอยากให้ทาง ปปช. เร่งพิจารณาหาตัวผู้เกี่ยวข้องกับการทำผิดในคดีนี้ให้ได้โดยเร็วด้วย
ขณะเดียวกัน เมื่อรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีความพยายามจะโยนเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ดีที่ไหวตัวทัน เรื่องดังกล่าวจึงไม่ถูกโยนภาระให้เป็นเรื่องของครม. ยังคงเป็นเรื่องระหว่างกทม. กับทางกระทรวงมหาดไทยจะไปตกลงความกันเอาเอง ว่าใครจะรับผิดชอบส่วนไหนอย่างไรบ้าง แต่ที่แน่ๆกทม.เลี่ยงการเป็นเจ้าภาพในเรื่องนี้ได้ยาก
พื้นที่โดยรอบมีกำแพงสูงล้อมไว้ *****************************************************************************
นอกจากนี้ ประเด็นการตรวจสอบทางสังคม พบว่าข่าว “บูรณาโกงรถดับเพลิง 6800 ล้าน” โดยกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ที่เคยได้รับรางวัลชมเชย จากการประกวดข่าวรางวัล “อิศรา อมันตกุล” ประจำปี 2549 โดยมีการระบุว่า ความน่าสนใจหรือเสน่ห์ของข่าวชิ้นนี้อยู่ที่ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านร่วมกันดำเนินการโดยปราศจากความขัดแย้ง แม้ว่าจะเป็นคู่กัดทางการเมืองอยู่ในขณะนั้นก็ตาม
ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่า ต่างฝ่ายต่างเล็งเห็นตัวเลขมหาศาลที่รออยู่ข้างหน้า จึงไม่มีใครเปิดโปงใครเหมือนกรณีอื่น ๆ สะท้อนให้เห็นภาพความเชื่อมโยงทางผลประโยชน์แบบบูรณาการ หากศาลตัดสินการจัดซื้อรถดับเพลิง เรือดับเพลิงและอุปกรณ์ว่าเป็นการกระทำการทุจริต รัฐเป็นผู้เสียประโยชน์ ภาษีของประชาชนถูกเบียดบังไปโดยมิชอบ
หากจะมีใครบัญญัติศัพท์ขึ้นมาใหม่เพื่อให้สำหรับคดีว่า “บูรณาโกง” ก็คงไม่ห่างไกลกันเท่าใดนัก อีกทั้งยังเป็นเรื่องที่ยาวนานสืบเนื่องกันมา จนนายสมัครได้ลาจากไปแล้วนั้น คดีก็ยังไม่สิ้นสุด
หากเรียกว่าเป็น "มหากาพย์บูรณาโกง" ก็ไม่น่าจะผิดความหมาย.
Produced by : Voicetv |