นักวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยผลวิจัยประสิทธิภาพอีเอ็ม ชี้ไม่ช่วยบำบัดน้ำเสีย แค่ลดกลิ่นเหม็น และทำให้น้ำใสขึ้นชั่วคราวเท่านั้น พร้อมแนะให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เก็บขยะออกจากแหล่งน้ำ และเร่งหาทางระบายน้ำ เพื่อช่วยบำบัดน้ำเสียอย่างยั่งยืน รองศาสตราจารย์ สุเทพ ธนียวัน หัวหน้าภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ทางคณะได้ทำการทดสอบประสิทธิภาพ การทำงานของอีเอ็มบอล นการบำบัดน้ำเสีย หลังจากมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับคุณสมบัติของอีเอ็มบอล ในช่วงน้ำท่วมเมื่อปลายปีที่ผ่านมา โดยทีมวิจัย เก็บตัวอย่างน้ำเสีย จากบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง จากตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี มาทดสอบ โดยแบ่งน้ำใส่โหลเป็น 3 ชุด ได้แก่ชุดที่ไม่ได้ใส่อีเอ็ม ชุดที่เติมอีเอ็ม และเลี้ยงเชื้อด้วยกากน้ำตาล และชุดอีเอ็มที่กรองกากน้ำตาลออก ผลการทดสอบ พบว่า การเติมอีเอ็ม หรือผลิตภัณฑ์จากอีเอ็มลงไปในน้ำเสีย ไม่ได้ทำให้น้ำมีคุณภาพดีขึ้น ในทางตรงกันข้าม การเติมอีเอ็มลงไปในน้ำ ทำให้ปริมาณออกซิเจนในน้ำลดลง ผลการทดลอง ยังอธิบายได้อีกว่า สาเหตุที่น้ำใสขึ้นใน2 ชั่วโมง หลังเติมอีเอ็มลงไปในน้ำ เป็นปฏิกิริยาทางเคมีที่เกิดขึ้นระหว่างน้ำเสียและอีเอ็ม ซึ่งอาจมีส่วนผสมของปูนขาวรวมอยู่ด้วย ดังนั้น หากต้องการบำบัดน้ำเสียในช่วงน้ำท่วม สามารถทำได้ โดยการนำปูนขาว หรืออีเอ็มชนิดน้ำ เทลงไปในน้ำได้ทันที โดยบริเวณที่น้ำท่วม จะต้องเป็นพื้นที่แคบ และต้องทำอย่างต่อเนื่อง ส่วนวิธีการบำบัดน้ำเสียอย่างถาวร คือการเก็บขยะและสิ่งปฏิกูลออกจากแหล่งน้ำ ไม่ทิ้งขยะเพิ่ม เร่งระบายน้ำ ให้มีการหมุนเวียน และเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำ Produced by Voice TV |