วันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

โลกปล่อย 'คาร์บอน' 30.6 พันล.ตัน สูงเป็นประวัติการณ์

หนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดียนของอังกฤษ เปิดเผยข้อมูลที่ยังไม่ได้รับการตีพิมพ์ของสำนักงานพลังงานสากล (ไออีเอ) ที่เปิดเผยว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่บรรยากาศของโลก มีระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

 

โดยนายฟาติห์ ไบรอล หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากไออีเอ เปิดเผยว่า การพุ่งขึ้นของอุณหภูมิโลกที่มากกว่าระดับ 2องศาเซลเซียส อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อสภาวะอากาศของโลก ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์หลายรายยังชี้ว่า นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของความเป็นไปได้ในการเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพอากาศที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในรอบ 80ปี   

เดอะการ์เดี้ยนอ้างการประเมินที่ไม่ได้เผยแพร่ของไออีเอว่า เศรษฐกิจโลกกลับมาขยายตัวในปีที่แล้ว และตามข้อมูลของไออีเอพบว่า เมื่อปีที่ผ่านมามีการตรวจพบระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ถึง 30.6พันล้านตัน ที่รั่วไหลไปสู่ชั้นบรรยากาศ สอดคล้องกับตัวเลขการปล่อยก๊าซคาร์บอนเพิ่มขึ้น 1.6พันล้านตัน จากปี 2009ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา  

นายไบรอลเปิดเผยว่า เขารู้สึกกังวลต่อข้อมูลเรื่องการปล่อยก๊าซที่รุนแรงที่สุดครั้งนี้ การรักษาระดับอุณหภูมิของโลกไม่ให้เกิน 2องศาฯเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างยิ่ง ทั้งนี้ เขากล่าวเตือนว่า ภายในปี 2022ระดับการปล่อยก๊าซคาร์บอนต่อปีควรถูกควบคุมไม่ให้เกินระดับ 32พันล้านตัน       

ขณะที่นายนิโคลาส สเติร์น นักเศรษฐศาสตร์จากลอนดอน สคูล ออฟ อิโคโนมิกส์ ซึ่งเคยจัดทำรายงานว่าด้วยผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่มีผลต่อเศรษฐกิจ ทำนายว่าอาจเกิดผลกระทบอย่างเลวร้าย หากว่าการปล่อยก๊าซดังกล่าวยังไม่มีการควบคุม และหากยังคงปล่อยให้ระดับการเพิ่มของก๊าซคาร์บอนยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป คาดว่าไม่เกินปี 2100นี้ มีโอกาสมากกว่า 50%ที่อุณหภูมิของโลกอาจเพิ่มสูงกว่า 4องศาฯ ทำให้คนทั่วโลกต้องอพยพย้ายถิ่นครั้งใหญ่และเกิดความขัดแย้งแย่งชิงที่อยู่อาศัยกัน

 ด้านนายจอห์น ซาวเวน ผู้อำนวยการกรีนพีซแห่งสหราชอาณาจักรเปิดเผยว่า การเพิ่มขึ้นดังกล่าว กว่า 3ใน 4ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศที่พัฒนาแล้ว อีกทั้งอาจมีปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นที่เร่งให้โลกอาจประสบกับภาวะเรือนกระจกที่รุนแรงยิ่งขึ้น อาทิ ตามข้อมูลของไออีเอพบว่า ราวร้อยละ 80ของโรงไฟฟ้าที่เตรียมใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าภายในปี 2020ได้สร้างเสร็จแล้วหรืออยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งนั่นหมายถึงโรงไฟฟ้าเหล่านั้นกำลังจะปล่อยก๊าซคาร์บอนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศของโลกในไม่ช้า หรือภายในช่วงกลางทศวรรษนี้ ซึ่งอาจมีปริมาณถึง 11.2พันล้านตัน จากภาคการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด 13.7พันล้านตัน

นอกจากนั้น วิกฤติการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่นยังส่งผลให้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าหลังจากนั้น ทางการญี่ปุ่นและเยอรมนีจะระงับโครงการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ออกไปเป็นการชั่วคราว และประเทศอื่นๆจำเป็นต้องกลับมาพิจารณาแผนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์อีกครั้ง

 

Source : News Center / Matichon /  VoiceTV (Image)