สุขภาพจิต ห่วงคนไทยฆ่าตัวตายสูง เปิดฮอตไลน์ปรึกษา
กรมสุขภาพจิต เปิดบริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตทางโทรศัพท์ตลอด 24ชั่วโมง หลังพบคนไทยร่วม 10ล้าน มีปัญหาสุขภาพจิต ฆ่าตัวตาย-ซึมเศร้า คาดเปิดใช้ต้นปีหน้า
นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตร่วมกับโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ประเมินว่า มีผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตที่สำคัญทั้ง 8กลุ่ม ความผิดปกติทางจิตเวชจากแอลกอฮอล์ ความผิดปกติทางจิตเวชจากสารเสพติด โรคซึมเศร้า โรคจิต ความผิดปกติทางพัฒนาการและพฤติกรรมในเด็กโรคลมชัก โรคสมองเสื่อม การทำร้ายตนเองและฆ่าตัวตายจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือประมาณ 10 ล้านคนทั่วประเทศ แต่เข้าถึงบริการเพียง 8แสนคนทั่วประเทศ คิดเป็นร้อยละ 8
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า เนื่องจากบุคลากรด้านสุขภาพจิต โดยเฉพาะจิตแพทย์ พยาบาลจิตเวช ที่จำเป็นสำหรับรองรับปัญหาด้านสุขภาพจิตมีจำนวนจำกัด ไม่เพียงพอต่อการให้บริการ ส่งผลให้ผู้มีปัญหาสุขภาพจิตไม่สามารถเข้าถึงบริการที่เหมาะสม ซึ่งที่ผ่านมา กรมสุขภาพจิตได้ริเริ่มจัดบริการให้การปรึกษาทางโทรศัพท์ ผ่านสายด่วนสุขภาพจิต (HotLine 1323) เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนที่มีความเครียด ความทุกข์ใจ ไม่สบายใจ และพบว่า สถิติจากการให้บริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตทางโทรศัพท์ผ่านสายด่วน 1323ของกรมสุขภาพจิต ในรอบ 3ปีที่ผ่านมา มียอดผู้ใช้บริการทั้งสิ้น 352,886ราย ปัญหาที่พบมากที่สุดเป็นปัญหาด้านสุขภาพจิตและโรคทางจิตเวชซึ่งการจัดบริการดังกล่าวยังไม่มีงบประมาณรองรับ ประกอบกับกรมสุขภาพจิตมีความต้องการที่จะพัฒนาระบบให้คำปรึกษาให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายผู้ป่วยและระดับความต้องการ เช่น ผู้ที่มีความวิตกกังวลจากปัญหาโรคทางกายเรื้อรัง โรคร้ายแรงอย่างผู้ป่วย HIV โรคมะเร็ง และกลุ่มผู้ป่วยที่เกิดจากพฤติกรรมสุขภาพ จึงได้ร่วมมือกับ สปสช. เพื่อที่จะพัฒนาโครงการบริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตทางโทรศัพท์ตลอด 24ชั่วโมง โดยทำเป็นระบบ Call Center ที่จะบริการให้คำปรึกษาทั่วไป และส่งต่อให้ผู้เชี่ยวชาญ กรณีที่เป็นการให้คำปรึกษาที่ซับซ้อนขึ้น ซึ่ง call center ระบบใหม่นี้สามารถให้บริการได้ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2555
ด้านนพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า ในแง่สิทธิประโยชน์ในการรับบริการปรึกษาและบริการให้คำปรึกษา เป็นบริการที่เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบ UC ที่ใช้กับผู้ป่วยกลุ่มต่างๆ เช่น HIV มะเร็ง สุขภาพกายและสุขภาพจิตอยู่แล้ว เช่น ในปัจจุบัน ผู้ป่วย HIV ได้รับบริการให้คำปรึกษาโดยอาสาสมัคร(VCT ; Volunteer Counselingand Testing) จากความร่วมมือของ สปสช. และกรมสุขภาพจิตในครั้งนี้ จะทำให้ประชาชนหรือผู้ป่วยระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสามารถเข้าถึงบริการปรึกษาที่มีคุณภาพมากขึ้น รวมทั้งยังสามารถที่จะช่วยป้องกันการฆ่าตัวตายจากโรคซึมเศร้า และโรคทางจิตเวชอื่นๆ ได้
Source : News Center / Thairath / VoiceTV (Image) |