กองบรรณาธิการเว็บไซต์วอยซ์ทีวี เขียนบทวิเคราะห์ คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่ในช่วงนี้ สังคมเริ่มเห็นปรากฎการณ์ความเข้มงวดในการใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยล่าสุดวันนี้ ศาลมีคำพิพากษาจำคุก 15 ปี ดา ตอร์ปิโด จากการขึ้นปราศรัยของเธอเมื่อปี 2551 ซึ่งเป็นเจตนาที่แสดงต่อสาธารณะ แต่คดีที่เกี่ยวเนื่องกับคำพูดหมิ่นสถาบันของเธอ จำเลยกลับได้รับการประกันตัว สังคมเริ่มได้เห็นปรากฏการณ์ การเข้มงวดเรื่องของการใช้กฎหมายควบคุมพฤติกรรมการหมิ่นประมาทสถาบันอย่างจริงจัง แต่ดูเหมือนว่าปรากฏการณ์ที่จริงจังดังกล่าว กลับทำให้ถูกเพ่งเล็งว่า เป็นการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทำลายฝ่ายที่อยู่ตรงข้าม โดยเอาเรื่องของ ความจงรักภักดี มาใช้เป็นอาวุธ กรณี การเคลื่อนไหวปรากฏการณ์ฝ่ามืออากง ซึ่งขณะนี้ ได้รับการตอบรับจากผู้คนที่มีแนวคิด ต้องการให้เกิดความเป็นธรรมของการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่เกี่ยวข้องในความผิดฐาน หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี และองค์รัชทายาท ทั้งนี้ เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วว่า การแสดงความไม่จงรักภักดี หรือ การพูดจาจาบจ้วง ที่ไม่เหมาะสมต่อสถาบัน เป็นเรื่องที่ทุกคนในสังคมรับไม่ได้ อีกทั้งยังเป็นเรื่องที่กระทบกระเทือนต่อจิตใจของคนในชาติ และตามกฎหมายมีการระบุความผิดเอาไว้อย่างชัดเจน อย่างกรณี ที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ.3959/2551 พิพากษา น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ "ดา ตอร์ปิโด" แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) มีความผิด ฐานกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรม รวม 3 กระทง จำคุกกระทงละ 5 ปี รวมจำคุก 15 ปี ในการใช้คำพูดจาบจ้วงเบื้องสูง มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และพระราชินี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดย “ดา ตอร์ปิโด” ได้ขึ้นปราศรัย เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2551ด้วยข้อความที่หมิ่นประมาทสถาบัน และทางฝ่ายราชการที่ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาฝังตัวในการชุมนุมของกลุ่มนปช.ที่สนามหลวงในวันนั้น ได้บันทึกเสียงเป็นหลักฐานอย่างชัดเจน จนนำไปสู่ขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมอย่างถึงที่สุด เรื่องที่เป็นความผิดก็ต้องว่าตามความผิด ตามกฎหมาย และตามมาตรฐานเดียวกันในการพิจารณา ทั้งเรื่องการตรวจสอบ การไต่สวน และการพิสูจน์ความจริง แต่ในขณะที่ กรณีของ “อากง” นายอำพล ตั้งนพกุล ชายสูงอายุวัย 61 ปี ที่ตกเป็นผู้ต้องหา ในความผิดฐาน หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี องค์รัชทายาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14(2),(3) ฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลใดๆอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ท่ามกลางการตั้งข้อสังเกตอย่างมากมายในการไต่สวนและพิสูจน์ความจริง แต่ “อากง” ก็ต้องโทษ 4 กระทงๆละ 5 ปี รวม 20 ปี เป็นที่เรียบร้อย โดยยังอยู่ระหว่างการคุมขังและอยู่ในช่วงที่จะตัดสินใจว่าจะยื่นอุทธรณ์สู้คดีหรือไม่ หรือจะขอรับพระราชทานอภัยโทษ แต่มีแนวโน้มว่า “อากง” อาจจะขออุทธรณ์คดีนี้ เพราะยืนยันว่า ตัวเองไม่ได้เป็นผู้ส่งข้อความดังกล่าว ขณะที่ หลายคดีของ นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยเฉพาะที่เกี่ยวพันกับคดีหมิ่นประมาท นายสนธิ ใช้สิทธิตามกฎหมาย ประกันตัวออกไปสู้คดีเพื่อพิสูจน์ตัวเอง แม้กระทั่งในคดีที่ถูกฟ้องในกรณีนำคำพูดของ “ดา ตอร์ปิโด” ไปปราศรัยต่อในเวทีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.2066/2553ซึ่งขณะนี้คดียังไม่ถึงที่สุด และนายสนธิใช้สิทธิในการประกันตัวออกไปสู้คดี ในขณะที่ต้นเหตุของคำพูด ถูกตัดสินพิพากษาเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว คงต้องดูว่า การดำเนินการในขั้นตอนคดีจะเป็นอย่างไรต่อไป นอกจากนี้ ย้อนไปในคดี นายภูมิธรรม เวชยชัย อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และรองเลขาธิการพรรคไทยรักไทย เป็นโจทก์ฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล และกลุ่มจำเลยร่วม ที่ในที่สุดศาลอุทธรณ์แก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลดโทษจำคุกนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ จำเลยที่ 5 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา จากที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 2 ปี เหลือลงโทษจำคุก 6 เดือน พร้อมกับมีคำพิพากษายืนให้ปรับบริษัท ไทยเดย์ ด็อท คอม จำกัด ผู้ผลิตรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 200,000 บาท และให้ยกฟ้องจำเลยร่วมอีก 8 รายไปนั้น คดีนี้นายภูมิธรรม ฟ้องนายสนธิ เนื่องจากไปจัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ครั้งที่ 10 ที่วัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี แล้วมีการกล่าวหมิ่นประมาทในทำนองว่าเป็นอดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ไม่เคารพสถาบันกษัตริย์ และระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งเกี่ยวข้องกับการจัดทำเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาจาบจ้วงสถาบันเบื้องสูง โดยถ่ายทอดสดผ่านทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวี เป็นเวลาหลายเวลาในเดือน พฤศจิกายน 2548 และในเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ โดยคดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2550 ให้จำคุกนายสนธิ จำเลยที่ 5 เป็นเวลา 2 ปี เพราะศาลฯได้พิจารณาแล้วว่า การทำหน้าที่ตอนนั้น ไม่เป็นไปด้วยการติชมด้วยความสุจริจและเป็นธรรม โดยคดีดังกล่าว ภายหลังนายสนธิ ได้ยืนยันว่า จะขอยื่นฎีกาสู้คดีต่อไป พร้อมประกันตัวสู้คดียื่นฎีกาในประเด็นข้อเท็จจริงต่อไป นอกจากนี้ นายสนธิยังมีอีกหลายคดีที่มีการฟ้องร้องเรื่องของการหมิ่นประมาท โดยเฉพาะกับคู่กรณี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และหลายคดีได้มีคำพิพากษาไปแล้ว และให้รอลงอาญาเอาไว้ จึงอาจมีมุมมอง ที่ต้องการให้เห็นว่า การต่อสู้เรื่องคดีที่มีการเชื่อมโยงไปถึงเบื้องสูง จะต้องทำอย่างเป็นธรรม และไม่ใช้เป็นเครื่องมือเพื่อรังแกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือใครจะมีสิทธิพิเศษเหนือกันและกัน กระแสการเรียกร้องเรื่องของ มาตรา 112 จึงขยายวงกว้าง และต่างชาติยังให้ความสนใจเป็นกรณีพิเศษตามมา อย่างไรก็ตามเชื่อว่า ทุกหัวใจของคนไทยยังมีความรักเดียวกัน เพียงต้องการให้อย่าเอาความรัก ไปแบ่งว่าใครรักมาก หรือรักน้อย และฝ่ายที่คิดว่าตัวเองรักมาก ก็อย่าเอาแต่รังแกฝ่ายที่คิดว่ามีความรักน้อยกว่าตัวเอง เพราะทุกคนต่างก็มีหัวใจดวงเดียวกัน คือ หัวใจความเป็นคนไทย Produced by VoiceTV |