วันพฤหัสบดีที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2554

"คดีทรมานนศ.ยะลา" บทพิสูจน์กระบวนการยุติธรรมไทย

"คดีทรมานนศ.ยะลา" บทพิสูจน์กระบวนการยุติธรรมไทย

รายการ  Intelligence  ประจำวันที่ 15 ธ.ค. 2554 

 

คดีจับกุมนักศึกษายะลา 7 คน  โดย 2 ใน 5 คนมีหมายจับตามประมวลกฎหมายอาญา เกิดขึ้นเมื่อต้นปี 2551  นักศึกษาทั้ง 5 คน ถูกควบคุมตัวเพื่อให้รับสารภาพ  เนื่องจากเป็นผู้ต้องสงสัยเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบ  หลังครบระยะเวลาควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก 7 วัน แล้วฝ่ายความมั่นคงไม่ได้ขออำนาจศาลควบคุมตัวต่อ ตามอำนาจพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ญาติของนักศึกษาจึงร้องต่อศาลว่ามีการควบคุมตัวโดยมิชอบ และซ้อมทรมาน  ก่อนจะเปิดไต่สวน 2 ฝ่าย ได้มีการปล่อยตัวนักศึกษาทั้ง 5 ออกมาก่อน  

                       

หลังจากนั้นประมาณ 1 ปี  นักศึกษา 2 คน ที่คนหนึ่งไปพิสูจน์บาดแผลจากการถูกซ้อมทรมาน จึงฟ้องร้อง กองทัพบก และกระทรวงกลาโหม ต่อศาลแพ่ง  แต่อัยการแก้ต่างให้จำเลยว่า ใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษ ขอให้จำหน่ายคดี  คดีนี้จึงมาอยู่อำนาจของศาลปกครอง

                     

 หลังต่อสู้คดีนานเกือบ 3 ปีในที่สุดศาลปกครองจังหวัดสงขลา มีคำสั่งให้ กองทัพบก ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 และ 2 รายละ 2 แสน 5 หมื่นบาท  แต่เนื่องจากผู้ฟ้องคดีรายแรก มีบาดแผล จึงให้ชดใช้เป็นค่ารรักษาพยาบาล 5,000 บาท

                       

คดีนี้เป็นครั้งแรกที่ประชาชนใน 3 จังหวัด ถูกนำตัวไปคุมขัง และซ้อมสามารถฟ้องร้องจนชนะกคดี   แต่อีกแง่หนึ่งก็สะท้อนว่า ผู้เสียหายไม่สามารถฟ้องร้องคดีอาญา เพื่อเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ผู้กระทำความผิด หรือกระทำเกินกว่าเหตุได้ เพราะเจ้าหน้าที่มีอำนาจตามกฎหมายพิเศษ คือ พรบ.กฎอัยการศึกและ พรก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินคุ้มครองอยู่  จึงต้องฟ้องร้องต้นสังกัด คือ กองทัพบก และกระทรวงกลาโหม 

                     

 อังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ มองว่า คดีนี้เป็นคดีตัวอย่างที่สะท้อนปัญหาการใช้กฎหมายพิเศษที่เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจ ดุลยพินิจอย่างกว้างขวาง  การควบคุมตัวโดยมิชอบ หรือการทรมาน เพื่อให้รับสารภาพอาจเกิดขึ้นได้  แต่ยังพอมีความหวังว่ากระบวนการยุติธรรม ยังพอถ่วงดุลย์อำนาจของพนักงานสอบสวนได้  เพราะสถิติคดีความมั่นคงใน 3 จังหวัดภาคใต้  ยกฟ้องสูงมาก

                       

จันทร์จิรา จันทร์แผ้ว หนึ่งในทีมทนายความของนักศึกษายะลา  มองว่า ผลกระทบจากการใช้อำนาจในทางมิชอบของรัฐ มี 2 ข้อ คือ ผลกระทบต่อเหยื่อการทรมาน ทำให้การดำเนินชีวิตไม่ปกติ ต้องใช้เวลาสู้คดีนานกว่าพิสูจน์ความบริสุทธิ์  และผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรม หากเจ้าหน้าที่ใช้วิธีทรมาน แล้วไม่ถูกตรวจสอบจะกลายเป็นการทำซ้ำ  เป็นวัฒนธรรมการใช้อำนาจที่มิชอบด้วยกฎหมาย

                         

สำหรับคดี 2 นักศึกษายะลา จะยังมีการอุทธรณ์ต่อ  เพื่อให้ศาลชี้ชัดประเด็น "การทรมาน"   แต่ถือเป็นความก้าวหน้าของกระบวนการยุติธรรมไทยในแง่การสร้างบรรทัดฐาน กรณีการควบคุมตัวโดยมิชอบ และการจำกัดการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ

 

 

Produced by Voice TV