วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2555

มองยุทธศาสตร์อินเดียผ่าน "แขกเกียรติยศ" วันชาติ

มองยุทธศาสตร์อินเดียผ่าน "แขกเกียรติยศ" วันชาติ

ในวันนี้ (26 ม.ค. 55) นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย ได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานสวนสนามวันชาติอินเดียครั้งที่ 63 ในฐานะ "แขกเกียรติยศ" ซึ่งตำแหน่งนี้ ไม่ได้เป็นเพียงการเข้าร่วมพิธีตามธรรมเนียมเท่านั้น แต่ยังเป็นการแสดงถึงยุทธศาสตร์ของอินเดียต่อประเทศที่ได้รับเชิญอีกด้วย

 

องค์ประกอบที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งของงานเฉลิมฉลองวันชาติของอินเดีย ซึ่งจัดในวันที่ 26 มกราคมของทุกปี ก็คือการเชิญผู้นำจากชาติต่างๆมาร่วมเป็นสักขีพยานในการสวนสนามประจำวันชาติในฐานะ "แขกเกียรติยศ" โดยในการเลือกเชิญผู้ที่จะมาเข้าร่วมพิธีในตำแหน่งดังกล่าว รัฐบาลอินเดียจะพิจารณาจากยุทธศาสตร์และนโยบายต่างประเทศในแต่ละปีว่าจะเป็นไปในทิศทางใด ก่อนที่จะเชิญผู้นำประเทศที่อินเดียคาดว่าจะมีบทบาทสำคัญต่อนโยบายดังกล่าวมาเป็นแขกเกียรติยศของรัฐบาล จนอาจกล่าวได้ว่า รายชื่ออันยาวเหยียดของแขกเกียรติยศตั้งแต่ปี 2493 จนถึงปัจจุบัน เปรียบเสมือนบันทึกยุทธศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของอินเดียก็ว่าได้



เริ่มตั้งแต่นายซูการ์โน ประธานาธิบดีคนแรกของอินโดนีเซีย แขกเกียรติยศคนแรกของรัฐบาลอินเดีย ซึ่งได้รับเชิญเนื่องจากในขณะนั้นเขาและนายยาวาหาร์ลาล เนห์รู นายกรัฐมนตรีอินเดีย รวมทั้งผู้นำอียิปต์ กานา และยูโกสลาเวียกำลังวางแผนก่อตั้งขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด หรือนาม (NAM) เพื่อเคลื่อนไหวในฐานะกลุ่มประเทศที่เป็นอิสระจากทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตในกระแสสงครามเย็น



ในยุคที่อินเดียให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศ การเลือกเชิญแขกเกียรติยศในช่วงนั้นก็สะท้อนนโยบายดังกล่าวอย่างชัดเจนเช่นกัน เช่นในปี 2550 นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียได้รับเชิญเป็นแขกเกียรติยศ หลังจากที่รัสเซียสัญญาว่าจะสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 4 แห่งในอินเดีย ในขณะที่นายนูร์สุลตาน นาซาร์บาเยฟ ประธานาธิบดีคาซัคสถาน แหล่งยูเรเนียมหลักของโลก ได้รับเชิญในปี 2552 เนื่องจากขณะนั้นอินเดียกำลังแสวงหาเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศ



สำหรับในปัจจุบัน ที่ยุทธศาสตร์ของอินเดียเปลี่ยนไปจากด้านการเมืองมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจและการค้ามากขึ้น แขกเกียรติยศก็เปลี่ยนแปลงไปเป็นประเทศที่มีฐานะเป็นหุ้นส่วนทางเศรษกิจที่สำคัญของอินเดียเช่นกัน โดยเฉพาะล่าสุด ที่อินเดียมีนโยบาย "ลุค อีสต์" ผู้นำประเทศสำคัญๆในซีกโลกตะวันออกต่างได้รับเชิญเป็นแขกเกียรติยศ เช่นนายลีเมียงบัค ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ประเทศที่มีอัตราการลงทุนในอินเดียมากที่สุด ได้รับเชิญในปี 2553 ในขณะที่นายซูซิโล บัมบัง ยุทโธโยโน ประธานาธิบดีอินโดนีเซียผู้ดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนคนปัจจุบัน ได้รับเชิญในปี 2554 เนื่องจากอินเดียต้องการพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้ากับกลุ่มประเทศอาเซียน



ด้วยเหตุนี้ การที่รัฐบาลอินเดียเลือกเชิญนางสาวยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรีของไทยเป็นแขกเกียรติยศในปีนี้ จึงไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย โดยเป็นการยืนยันในนโยบายพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศอาเซียนทั้งในด้านเศรษฐกิจ การค้าและความมั่นคง และที่สำคัญที่สุด ยังเป็นการตอกย้ำความสำคัญของประเทศไทยในฐานะประเทศที่มีบทบาทนำในภูมิภาคอีกด้วย

 

Produced by Voice TV