วันอังคารที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2555

คดีบ็องชาแมง: บทพิสูจน์การห้ามจำกัดเสรีภาพประชาชน

คดีบ็องชาแมง: บทพิสูจน์การห้ามจำกัดเสรีภาพประชาชน

ในประวัติศาสตร์ของประเทศฝรั่งเศสก็เคยมีตัวอย่างให้เห็นว่า การออกกฎ จำกัดเสรีภาพของประชน ซึ่งถือว่ารุนแรงสูงสุดนั้น ไม่สามารถทำได้ โดยศาลปกครองสูงสุดของฝรั่งเศส เคยตัดสินให้คำสั่งของนายกเทศมนตรีเมืองหนึ่งในฝรั่งเศส ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

จากกรณีที่นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขียนข้อความลงเฟซบุ๊ก อ้างมติของที่ประชุมกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ห้ามไม่ให้มีการเคลื่อนไหวกรณีมาตรา 112 ในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น นำมาสู่ข้อถกเถียงในวงกว้างว่า เป็นคำสั่งที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพและเกินความจำเป็นหรือไม่


ในประวัติศาสตร์ของประเทศฝรั่งเศส ก็เคยปรากฏคำสั่งในลักษณะนี้มาแล้ว เมื่อชมรมการท่องเที่ยวแห่งเมืองเนแวร์สาธารณรัฐฝรั่งเศส  จัดการประชุมทางวรรณกรรม และเชิญนายเรอเน่ บ็องชาแมง นักอนุรักษ์นิยม ผู้เคยแสดงถ้อยคำเหยียดหยามครูในโรงเรียนที่ไม่ขึ้นต่อศาสนามาแล้วหลายครั้ง มาแสดงปาฐกถาต่อที่ประชุม


งานนี้ส่งผลให้สหภาพครูเมืองเนเวไม่พอใจ เป็นอย่างมาก และแจ้งต่อนายกเทศมนตรีเมืองเนแวร์ จะต่อต้านการเดินทางมาปาฐกถาของนายบ็องชาแมงทุกวิถีทาง พร้อมทั้งยังได้เชิญชวนให้ผู้สนับสนุนหลายฝ่ายมาร่วมชุมนุมด้วย



เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น นายกเทศมนตรีเมืองเนแวร์จึงตัดสินใจป้องกันเหตุความไม่สงบที่อาจเกิดขึ้น จากการขึ้นปาฐกถาของนายบ็องชาแมง ด้วยการอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 97 แห่งกฎหมายลงวันที่ 5 เมษายน ค.ศ.1884 ซึ่งบัญญัติว่า "นายกเทศมนตรีมีอำนาจหน้าที่ออกมาตรการที่จำเป็นแก่การรักษาความสงบเรียบร้อย" ออกคำสั่งห้ามมิให้จัดประชุมฟังการแสดงปาฐกถาของนายเรเน บ็องชาแมง



ในเวลาต่อมา ศาลปกครองสูงสุดแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ก็ได้พิพากษาว่า คำสั่งของนายกเทศมนตรีแห่งเมืองเนแวร์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากความไม่สงบเรียบร้อย ที่อาจเกิดขึ้นจากการมาปรากฏตัวของนายบ็องชาแมงในเมืองเนแวร์นั้น มิได้ร้ายแรงถึงขนาดที่นายกเทศมนตรีจะไม่สามารถป้องกันได้ด้วยวิธีอื่นที่มีความรุนแรงน้อยกว่าการสั่งยกเลิกการปาฐกถา หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การห้ามมิให้จัดประชุมฟังการแสดงปาฐกถาของนายบ็องชาแมงนั้น เป็นการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมสาธษรณะของประชาชน ซึ่งถือว่าเกินขอบเขตแห่งความจำเป็นแก่การรักษาความสงบเรียบร้อยของเมืองเนแวร์มากเกินไป


ดังนั้น ในเมื่อหลักความจำเป็น ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของกฎหมายปกครองระบุว่า "การเลือกระหว่างสิ่งที่เลวร้ายตั้งแต่สองสิ่งขึ้นไป บุคคลควรเลือกสิ่งที่เลวร้ายน้อยที่สุด" เราอาจจะต้องย้อนกลับมาคิดว่า มติของของที่ประชุมกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ห้ามไม่ให้มีการเคลื่อนไหวกรณีมาตรา 112 ในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น เป็นสิ่งที่เลวร้ายน้อยที่สุดหรือยัง

 

Produced by Voice TV